โบราณสถาน

เจดีย์จุลประโทน

สถานที่พบ : ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย : กว่า 1,000 ปี

ความเป็นมาและความสำคัญ

เจดีย์จุลประโทนเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีที่สำคัญ ตั้งอยู่ไม่ใกลจากพระประโทณเจดีย์ สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของพระประโทณเจดีย์และเจดีย์จุลประโทน คือ จุดศูนย์กลางของเมืองนครปฐมโบราณ เจดีย์จุลประโทนเป็นศาสนสถานที่มีแผนผังฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนฐานประดับตกแต่งด้วยแผ่นภาพปูนปั้นและดินเผา เล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนครปฐมโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สามารถนำมาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยทวารวดีได้เป็นอย่างดี
กรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณคดีเจดีย์จุลประโทน ใน พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2483 ภายใต้การนำของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ร่วมกับศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้ร่วมกันขุดค้นบริเวณเจดีย์จุลประโทนที่ขณะนั้นเป็นเนินอิฐที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม พบว่าเป็นซากของฐานเจดีย์ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในครั้งแรกของการขุดค้นนั้นศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ ได้เรียกชื่อ เจดีย์จุลประโทนว่า วัดพระประโทน เพราะตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระประโทณเจดีย์ ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น เจดีย์จุลประโทน เพราะเกรงว่าจะสับสนกับ เจดีย์พระประโทนซึ่งมีอยู่อีกองค์หนึ่งในบริเวณวัดพระประโทณเจดีย์
จากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้พบว่ามีร่องรอยของการก่อสร้างอย่างน้อย3ครั้ง ลักษณะของเจดีย์จุลประโทนสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงปราสาทซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปอยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ การก่อสร้าง ในระยะแรกมีลานทักษิณที่มีบันไดขึ้น 4 ด้าน องค์เจดีย์ประดับด้วยพระพุทธรูปประทับยืน 5 องค์ อยู่ภายในซุ้ม ในระยะต่อมามีการก่อลานทักษิณให้สูงปิดทับส่วนล่างของเจดีย์เอาไว้ ในระยะสุดท้ายจึงมีการก่อเจดีย์ขนาดเล็กที่มุมทั้ง 4 ของลานทักษิณที่ขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ทั้งยังนำพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท 3 องค์ และพระพุทธรูปนาคปรก 2 องค์ มาประดิษฐานภายในซุ้มแทนที่พระพุทธรูปประทับยืน
ต่อมาใน พ.ศ. 2502 มีการตีพิมพ์รายงานการขุดค้นของ ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ โดยใช้ชื่อว่า โบราณคดีมอญแห่งอาณาจักรทวารวดี ได้กล่าวถึง ลักษณะของเจดีย์จุลประโทนและการซ่อมเสริมใหม่อีก 2 ครั้งส่วนภาพปูนปั้นที่ประดับฐานเจดีย์นั้น ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ ได้พบเพียงไม่กี่ภาพคือด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ รูปช้างกำลังเดิน และรูปครุฑ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ รูปสิงห์หมอบ และด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ รูปช้างกำลังเดิน ทำให้ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ กล่าวว่า ภาพที่ประดับด้านหน้าของฐานลานประทักษิณ เป็นรูปช้างสลับกับรูปครุฑ ในขณะที่สองข้างบันไดเป็นรูปสิงห์นั่ง ซึ่งความจริงแล้วภาพประดับที่ฐานลานประทักษิณของเจดีย์จุลประโทนยังมีภาพบุคคลและภาพสัตว์
ต่อมาได้มีการขุดแต่งศึกษาเจดีย์จุลประโทน ในพ.ศ.2510 ถึงพ.ศ.2511 ดำเนินการขุดโดย นายสมศักดิ์ รัตนกุล จากกรมศิลปากรโดยได้รับความร่วมมือจากศาสตราจารย์ช็อง บวสเซอลิเย่ร์ (Jean Boisselier) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ในการขุดครั้งนี้นอกจากจะขุดแต่งองค์เจดีย์เพิ่มเติมแล้ว ยังมีการวิเคราะห์ภาพเล่าเรื่องที่ประดับฐานเจดีย์จุลประโทนซึ่งไม่ได้ค้นพบในการขุดแต่งครั้งแรกด้วย โดยศาสตราจารย์ช็อง บวสเซอลิเย่ร์ กล่าวว่าภาพเล่าเรื่องส่วนใหญ่คงเป็นภาพชาดกในลัทธิเถรวาทแต่ก็มีรูปพระโพธิสัตว์อยู่ด้วย
ศาสตราจารย์ บวสเซอลิเย่ร์ ให้คำอธิบายว่าพุทธศาสนามหายานที่ปรากฏนี้น่าจะเป็นอิทธิพลจากภาคใต้ที่แพร่หลายขึ้นมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ช็อง บวสเซอลิเย่ร์ นำเสนอผลการกำหนดอายุเจดีย์จุลประโทนว่ามีการก่อสร้างอย่างน้อย 3 ครั้ง นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2511 ยังมีการพบหลักฐานจากเจดีย์จุลประโทนเพิ่มเติมในขณะดำเนินการสร้างทางหลวงจากกรุงเทพมหานครมายังนครปฐม โดยขุดพบแผ่นภาพปูนปั้นจำนวนหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ในขณะนั้นได้เก็บรักษาไว้ ต่อมากรมศิลปากรได้ขอภาพปูนปั้นที่ขุดพบไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยปัจจุบันภาพปูนปั้นนี้ได้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
จากการศึกษาขุดค้นและบูรณะของกรมศิลปากรทำให้ทราบถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์จุลประโทนว่ามีการสร้างเสริม 2 ครั้ง คือในระยะแรก ประกอบด้วยองค์เจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมหลายชั้น แต่ละด้านขององค์เจดีย์ประดับด้วยซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทำด้วยปูนปั้นด้านละ 5 ซุ้ม ถัดจากองค์เจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมแต่ละด้านกว้าง 19 เมตร ด้านหน้าของฐานประดับด้วยลวดบัว ที่มุมประดับด้วยภาพนูนรูปมกร ทั้งหมดตั้งอยู่บนลานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ฐานของลานประทักษิณประดับด้วยภาพปูนปั้นและภาพดินเผา บริเวณกึ่งกลางของด้านทั้งสี่มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บันไดชั้นล่างเป็นรูปครึ่งวงกลมมีสิงห์สลักอยู่ 2 ข้างบันได และมีราวบันใดออกจากปากรูปสัตว์ ถัดออกไปเป็นลานเตี้ยล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ในระยะที่สอง เป็นการบูรณะครั้งที่ 1 ลานประทักษิณได้ถูกยกขึ้นไปเสมอกับซุ่มที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แผนผังยังคงเป็นรูปสีเหลี่ยม แต่ย่อมุมน้อยลง ในขณะที่ด้านหน้าของลาน ประทักษิณสมัยแรกรวมทั้งบันไดทางขึ้นยังคงอยู่ แต่ไม่สามารถเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณได้ สำหรับระยะที่สาม เป็นการบูรณะครั้งที่ 2 ฐานทั้งหมดจนกระทั่งถึงระดับซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปได้ถูกปิดบังด้วยการสร้างลานประทักษิณขึ้นใหม่ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสี่ด้าน ไม่มีบันไดทางขึ้น บนมุมทั้งสี่ของลานประทักษิณประดับด้วยเจดีย์ทรงกลมอยู่มุมละองค์ ผนังของลาน ประทักษิณที่สร้างขึ้นใหม่ได้ปิดทับภาพปูนปั้นที่ประดับผนังลานประทักษิณที่สร้างในสมัยแรก
อย่างไรก็ตามภาพปูนปั้นประดับที่เจดีย์จุลประโทนนำไปสู่ประเด็นการตีความเกี่ยวกับนิกายในการนับถือศาสนาพุทธของผู้คนสมัยทวารวดีที่เมืองนครปฐมโบราณของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของทวารวดีซึ่งมีแนวคิดที่แตกต่างกันไป ต่อมากรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเจดีย์จุลประโทน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 ตอนที่ 40 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2483

บรรณานุกรม

อุษา ง้วนเพียรภาค, โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์, 140.
สภาจังหวัดนครปฐม. ทวราวดีศรีนครปฐม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2563.