นักโบราณคดีรวบรวมหลักฐานและวิเคราะห์ไว้แน่ชัดแล้วว่า พระปฐมเจดีย์นี้เป็นเจดีย์แห่งแรกของ
ประเทศไทย สร้างตามคตินิยมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ส่งสมณะทูตเข้ามาเผยแพร่พระศาสนาในย่านนี้ มีลักษณะคล้ายสถูปที่สาญจีในอินเดีย การสร้างก็เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา และความมีอำนาจวาสนาของผู้สร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง มีตำนานเรื่องสร้างพระปฐมเจดีย์เล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนดอนยายหอมมีวรรณกรรมพื้นบ้านพระยากง พระยาพาน และยายหอมเป็นตำนานพื้นถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญและชื่อบ้านนามเมืองของชุมชนอีกด้วย กล่าวกันว่า มีเจ้าผู้ครองเมืองนครชัยศรีชื่อ “พระยากง” เมื่อพระมเหสีทรงครรภ์ พระยากงได้ให้โหรมาทํานายทารกในครรภ์ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โหรทํานายว่าทารกจะเป็นชายมีบุญบารมีมาก มีจิตใจห้าวหาญและอาจเป็นปิตุฆาตคือ ผู้ที่จะฆ่าพ่อได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาประสูติ ได้นำพานทองมารองรับตามราชประเพณี ปรากฏว่า พระนลาฏของพระโอรสน้อยได้กระทบกับขอบพาน จนพานเป็นรอยยุบลงไปและเกิดเป็นแผลขึ้นที่พระนลาฏของพระองค์ เมื่อพระยากงทราบดังนั้นก็คิดถึงคําทํานายของโหรว่าพระโอรสมีบุญมากจริง จนขนาดพานทองที่มารองรับยังทานบุญบารมีไว้ไม่ได้จนขอบพานยุบเป็นรอย จึงสั่งให้ทหารนําพระโอรสน้อยไปประหารเสีย พระมเหสี เมื่อทราบดังนั้นก็ทุกข์ใจมากคิดหาทางแก้ไข ในที่สุดก็ทรงนําพระโอรสไปฝากไว้กับแม่นม ชื่อ “ยายหอม” ครั้นเมื่อ พระโอรสเจริญวัยเป็นเด็กชายพาน ยายหอมเห็นว่าเป็นเด็กฉลาดเฉลียวจึงนําไปถวายพระยาราชบุรี เมื่อพระยาราชบุรีพบเด็กชายพานก็พอพระทัยมาก ประกอบกับที่ไม่ทรงมีพระโอรสพระธิดาจึงทรงรับเด็กชายพานไว้เป็น พระราชบุตรบุญธรรม ตั้งให้เป็น “พระยาพาน”
พระยาพานได้รับการศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์ทุกแขนงจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาก ครั้งเมื่อ
พระยาพานเจริญวัยเป็นราชบุตรผู้เก่งกล้า ทรงถามพระยาราชบุรีว่าทําไมต้องส่งเครื่องบรรณาการแก่เมืองนครชัยศรีทุก ๆ ปี ขณะที่บ้านเมืองของเรา