โบราณวัตถุ

ปูนปั้นชาดกจุลประโทน

ประวัติและความเป็นมา

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์จุลประโทนเป็นโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2483 ในอดีตโบราณสถานที่แห่งนั้นมีลักษณะเป็นเนินอิฐมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม และไม่ปรากฏชื่อเรียกสถานที่แห่งนี้อย่างเป็นทางการ มีเพียงแต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า เนินหิน เพราะในอดีตบริเวณดังกล่าวเป็นเนินมีอิฐ หิน กระจายอยู่ทั่วไป
ต่อมาได้มีการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2582-2483 โดย ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO) ทำการขุดค้นร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้การนำของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ร่วมกันทำการขุดค้นเจดีย์จุลประโทน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ค้นพบของเจดีย์จุลประโทน พบเพียงฐานเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีการย่อมุมของฐานเจดีย์เพียงเล็กน้อย แต่ละด้านประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปูนปั้น 5 องค์ภายในซุ้มส่วนกลางนี้ตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกันแต่กว้างกว่าเล็กน้อย ด้านหน้าฐานประดับด้วยลวดบัวและบนมุมที่ยื่นออกไปประดับด้วยมกรเป็นภาพนูน ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่เหนือลานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าลานประทักษิณประกอบด้วยแผ่นภาพ เป็นรูปครุฑและรูปช้างกำลังเดิน ทั้งหมดมีลานล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง บันได 4 ทิศ มีบันไดชั้นล่างเป็นรูปครึ่งวงกลมได้นำขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ บันไดนี้มีสิงห์สลักอยู่ที่ด้านข้าง และมีราวบันไดออกมาจากปากของรูปสัตว์
ต่อมา ใน พ.ศ.2511 จากการที่รถแทรกเตอร์ของกรมทางหลวง ที่กำลังก่อสร้างทางหลวงสาย เพชรเกษม เส้นทางระหว่าง กรุงเทพฯ - นครปฐม เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน เพื่อใช้สำหรับเป็นที่เก็บเครื่องจักรของกรมทางหลวง ระหว่างที่เครื่องจักรกำลังดำเนินการอยู่นั้นก็บังเอิญได้ขุดเอารูปแผ่นภาพปูนปั้นและดินเผาที่อยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาอย่างมิได้ตั้งใจ เจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ในขณะนั้นเมื่อทราบเรื่องจึงได้พยายามที่จะนำไปเก็บรักษาไว้โดยที่นำไปติดไว้ที่เจดีย์ในวัดพระประโทณ ทางกรมศิลปากรเมื่อทราบเรื่องจึงได้เริ่มทำการขุดค้นขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานเป็นกรณีศึกษาในขั้นต่อไป เพื่อป้องกันการชำรุดและถูกทำลาย โดยนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาจึงนำโบราณวัตถุดังกล่าวกลับมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยที่ยังคงหลงเหลือโบราณวัตถุบางส่วนที่นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เนื่องจากการศึกษาเรื่องราวของเมืองนครปฐมโบราณ โดยเฉพาะประเด็นของเจดีย์จุลประโทนได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องอาณาจักรทวารวดี โดยจัดเป็นเจดีย์สำคัญในสมัยทวารวดี และจัดเป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะโบราณวัตถุสถานแบบทวารวดีที่พบจากเมืองอื่นๆ ต่อมา ใน พ.ศ. 2517 นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไทย ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ศึกษาและวิจัยความภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏบนประติมากรรมดินเผาและปูนปั้น ที่ขุดพบที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ใน พ.ศ. 2511 และเสนอเป็นบทความเรื่อง "พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน โดยสรุปว่าเป็นภาพเล่าเรื่องในอวทานของพุทธศาสนานิกายมูลสรรวาสดิวาท ซึ่งใช้คัมภีร์สันสกฤต แสดงให้เห็นว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 พุทธศาสนานิกายหินยาน ซึ่งใช้คัมภีรัภาษาสันสกฤตคงจะเคยรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรทวารวดี
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ มีความคิดเห็นต่างกันไป และเสนอบทความเรื่อง "ภาพชาดกที่เจดีย์จุลประโทน" ลงตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร โดยระบุว่าพุทธศาสนานิทานที่ปรากฏอยู่ที่เจดีย์จุลประโทนนั้น มิได้เป็นนิทานของนิกายมูลสรรวาสติวาทหรือของพุทธตาสนานิกายหนึ่งใดโดยเฉพาะ นิทานเหล่านี้มีต้นกำเนิดอยู่ในสมัยก่อนที่พระพุทธศาสนาจะได้แตกแยกออกเป็นหลายต่อหลายนิกาย และสรุปไว้ว่าประชาชนชาวทวารวดีนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เนื่องจากได้พบว่าจารึกที่เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนานั้น บรรจุข้อความซึ่งยกมาจากพระอรรถกถา ภาษาบาลีของนิกายเถรวาททั้งสิ้น สำหรับอิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้แพร่มาจากภาคเหนือของประเทศอินเดียนั้น มิได้มีความหมายมากนักต่อดินแดนที่มีการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทอย่างลึกซึ้งเช่นชาวทวารวดี
ต่อมา ใน พ.ศ. 2518 ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อว่า "The Chula Pathon Cedi Architecture and Sculpture of Dvaravai" และได้นำเสนอข้อมูลการกำหนดอายุเจดีย์จุลประโทนใหม่ ดังนี้
ระยะแรกของเจดีย์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ซึ่งกำหนดจากการศึกษารูปแปลนเจดีย์ประกอบกับลวดลายประดับตกแต่ง โดยการเปรียบเทียบกับเจดีย์แบบคุปตะของอินเดียและมีความเห็นว่าประติมากรรมปูนปั้นและดินเผานั้น ใช้ประดับเจดีย์ในระยะแรกและไม่ใช่ภาพชาดกจากคัมภีร์ภาษาบาลี แต่เป็นภาพเล่าเรื่องจากอวทานของพุทธตาสนาหินยาน นิกายมูลสรรวาสติวาท และไม่มีอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัย ส่วนอิฐสลักระบายสีนั้นเป็นอิฐก่อผนัง
การก่อสร้างในระยะที่ 2 โดยกำหนดอายุในราวพุทธศดวรรษที่ 12 และระยะที่ 3 ของเจดีย์นั้นได้รับการต่อเติมในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 13
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ซอง บวสเซลิเย่ ได้เสนอความคิดเห็นว่า ระยะแรกของเจดีย์จุลประโทนสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนานิกายหินยาน (เถรวาท) ส่วนระยะที่ 2 เป็นอิทธิพลนิกายมหายานจากอินโดนีเซีย และระยะที่ 3 กลับเป็นคติหินยานตามเดิม ส่วน ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าระยะแรกเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายหินยานที่ใช้ภาษาสันสกฤต ส่วนระยะที่สองและสามนั้นเป็นพุทธศาสนานิกายหินยานที่ใช้ภาษาบาลี

ลำดับที่ 1

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องชาดกสุปารคะ (602/2519)
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16
ลักษณะ ปูนปั้น กว้าง 78 เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องชาดกสุปารคะ แต่เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2511 ลักษณะเป็นแผ่นปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางของภาพปูนปั้นเป็นภาพนูนสูงรูปบุคคล 2 คนนั่งในเรือ หัวเรือหันไปทางด้านขวาของภาพ เรือเป็นรูปโค้งหัวเรือและท้ายเรือเชิดสูงขึ้น ตรงกลางลำเรือมีเสากระโดงหนึ่งต้น รูปบุคคลที่อยู่ในภาพปล่อยผมยาว แต่ไม่สวมเครื่องประดับ บุคคลด้านหลังนั่งหันหน้าไปหัวเรือและมือขวาจับอยู่ที่เสากระโดงเรือ
ภาพปูนปั้นนี้มีการตีความว่าเป็นภาพเล่าเรื่องสุปารคะ จากคัมภีร์ชาดกมาลาของอารยสูรในภาษาสันสกฤต เล่าว่าพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนายเรือที่เก่งกาจชื่อสุปารคะอยู่ที่เมืองสุปารคะ (โสปาระ) ซึ่งมีอายุมากและตาเกือบมองไม่เห็นแล้ว หากแต่ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป วันหนึ่งได้รับการทาบทามจากพ่อค้าของเมืองภรุกัจฉะขอร้องให้ร่วมเดินทางไปด้วย ระหว่างการเดินทางได้เกิดพายุใหญ่ บรรดาพ่อค้าต่างหวาดกลัวและขอร้องให้สุปารคะช่วย จึงรอดพ้นจากอันตรายกลับถึงเมืองภรุกัจฉะได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามจากภาพนี้อาจมาจากเรื่องสมุททวาณิชชาดก ในประชุมชาดกภาษาบาลีของนิกายเถรวาท ก็เป็นไปได้เช่นกัน

ลำดับที่ 2

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องจุลธัมมปาลชาดก(45/2541)
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16
ลักษณะ ปูนปั้น กว้าง 91.5 เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องจุลธัมปาลชาดก เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศใต้ของเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2511 ลักษณะเป็นแผ่นปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางของภาพปูนปั้นเป็นภาพนูนสูงรูปสตรีชั้นสูง หันหน้าตรง ยืนเอียงกายเล็กน้อย มือทั้งสองข้างไขว้ทับกัน เกล้าผมรัดด้วยเครื่องประดับศีรษะ สวมต่างหูห้อยยาวลงมาเหมือนพวงอุบะ สร้อยคอเป็นแถบขนาดใหญ่มีแถบผ้าคาดใต้ราวนมเหนือหน้าท้อง ที่ขอบด้านบนของผ้านุ่งคาดทับด้วยเข็มขัดถัก มือซ้ายถือชายผ้าห้อยที่ปลายผ้าเป็นแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบ ปลายชายผ้าอีกด้านหนึ่งมีพู่ห้อยคล้ายรูปกระดิ่ง ด้านขวาของภาพมีรูปสตรี 2 คน ยืนเอียงกายเรียงกันอยู่ด้านหลัง
ด้านหน้าเทินภาชนะไว้บนบ่า ส่วนศีรษะหักหายไป ด้านล่างมีรูปบุคคลนั่ง ในมือขวาถือพัดโบกมอง ไม่เห็นศีรษะ ด้านซ้ายของรูปสตรีตรงกลาง มีรูปบุคคลเหลือเฉพาะส่วนลำตัวและโคนขายืนโค้งลำตัว อุ้มเด็กทารกยื่นออกไปทางด้านหน้า ริมซ้ายสุดของภาพเป็นรูปบุรุษ นุ่งโจงกระเบนสั้นมีแถบผ้าคาดทับสะโพก ชักชายผ้าด้านหน้าไม่สวมเสื้อ
ภาพปูนปั้นนี้มีการตีความว่าเป็นภาพเล่าเรื่องจุลธัมมปาลชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชาผู้โหดร้าย เพราะพระมเหสีเอาพระทัยใส่พระโอรสมากกว่า จึงให้เพชฌฆาตมานำพระโอรสจากพระมเหสีไปประหารเสีย จากความโหดร้ายของพระองค์จึงทรงถูกธรณีสูบและถูกไฟนรกเผาผลาญ หรือตีความว่าเป็นเรื่องสุรูปะ ซึ่งอยู่ในคัมภีร์สันสกฤตเก่าแก่เรื่องอวทานศตกะ เล่าถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่บำเพ็ญทานบารมี ได้ประทานพระโอรส พระมเหสี และพระองค์เองให้แก่ยักษ์กระหายเลือด ซึ่งคือท้าวสักกะเทวราช แปลงกายมา
ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดกนี้ได้แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมสมัยทวารวดีที่คงมีระบบชั้นวรรณะ เพราะลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะภาพสตรีชั้นสูง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงฐานันดรที่สูงศักดิ์

ลำดับที่ 3

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องชาดกฉัททันต์ (604/2519)
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16
ลักษณะ ปูนปั้น กว้าง 82 เซนติเมตร ยาว 101 เซนติเมตร
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องชาดกฉัททันต์ เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2511 ลักษณะเป็นแผ่นปูน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางของภาพปูนปั้นเป็นภาพนูนสูงรูปช้างยืนหันหัวไปทางด้านซ้ายของภาพ เท้าขวายกขึ้นในลักษณะก้าวเดินงวงห้อยลง ปลายงวงยึดจับงาที่หัก ด้านข้ายของหัวช้างมีลวดลายก้านขด
ภาพปูนปั้นนี้มีการตีความว่าเป็นภาพเล่าเรื่องชาดกฉัททันต์ จากคัมภีร์สูตราลังการ แสดงภาพพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาช้าง 6 งา ซึ่งพระมเหสีของพระราชาผู้ครองเมืองมีความพยาบาทมาแต่ปางก่อน จึงสั่งให้นายพรานไปนำงาช้างของพระยาช้างมาให้ พรานจึงปลอมตัวเป็นพระสงฆ์ และได้ยิงพระยาช้างด้วยธนูอาบยาพิษ ด้วยความเคารพต่อผ้ากาสาวพัสตร์พระโพธิสัตว์จึงมิได้ทำอันตรายต่อนายพราน และอนุญาตให้นายพรานขอสิ่งที่ต้องการ นายพรานจึงบอกความประสงค์ว่าต้องการงาของพระยาช้าง แต่ไม่ต้องการแตะต้อง เนื่องจากมือไม่บริสุทธิ์เกรงว่าจะเป็นอันตราย พระโพธิสัตว์จึงเอางวงพันงาและดึงออกมามอบให้แก่นายพราน

ลำดับที่ 4

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องกัจฉปะ
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
ลักษณะ ปูนปั้น ขนาด กว้าง 102 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร หนา 5 เซนติเมตร
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องกัจฉปะเดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของ เจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้น ทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2511
ภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์อวทาน กัลปดาของกเษเมนทระเล่าเรื่องเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็นเต่า ได้ให้ความช่วยเหลือพ่อค้าที่เรือแตกให้ปลอดภัย แต่เมื่อพระองค์บรรทมหลับ พ่อค้าเหล่านั้นพยายามจะฆ่าและกินเนื้อเต่าเป็นอาหาร เมื่อพระโพธิสัตว์รู้สึกพระองค์ก็ทราบว่าพ่อค้าเหล่านั้นคงจะหิวมาก จึงทรงบริจาคเนื้อของพระองค์เป็นทาน และทรงได้บารมีอันสูงสุด

ลำดับที่ 5

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องไมตระกันยคะ
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
ลักษณะ ขนาด กว้าง 43.5 ซม. ยาว 84 ซม. หนา 5 ซม.
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องไมตระกันยคะเดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้น ทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2511
ภาพเล่าเรื่องในตระกันยกะซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์อวทานศตกะ ทิวยาวทาน อวทานกัลปดา และภัทรกัลปอวทาน เล่าเรื่องเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพ่อค้า นามว่า โมตระกัน ยกะ ก่อนออกเดินทางได้ทําร้ายมารดา เป็นผลให้ต้องผจญวิบากกรรม จนไปพบเปรตตนหนึ่งที่ทนทุกข์ทรมานจากการทูนจักรไฟบนศีรษะเพราะผลกรรมเช่นเดียวกัน พระโพธิสัตว์จึงตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าตนเองจะเป็นผู้ทูนจักรไฟนี้ตลอดไป ขออย่าให้มีใครกระทําบาปเช่นตนอีก เมื่อได้กระทำสัตย์ปฏิญาณแล้วผลแห่งความตั้งใจดีจึงทำให้จักรไฟลอยออกจากศีรษะ พ้นเคราะห์กรรมในที่สุด อย่างไรก็ตามภาพนี้สามารถบ่งชี้ลักษณะเครื่องต่ายกาย และลวดลายเครื่องประดับของทั้งบุรุษ และสตรีในสมัยนั้นได้

ลำดับที่ 6

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องชาดกหัสติง
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
ลักษณะ ขนาด กว้าง 47.5 ซม. สูง 42 ซม.
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องชาดกหัสติงเดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2511
ภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์ชาดกมาลาของอารยอสูร เล่าเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็น พระยาช้างหัสติง และอุทิศพระองค์ให้เป็นทานแก่คนหิวโหย
เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อวทานกัลปลดาด้วย และพระยาช้างก็มีนามว่า ภัทระหมายถึงผู้ประเสริฐ อย่างไรก็ดี ในเรื่องหลังนี้ พระยาช้างก็มิได้อุทิศเนื้อ ของตนเองให้ แต่ได้ให้ชายเหล่านั้นกินผลไม้และดื่มน้ำ ชายเหล่านั้นได้ตั้ง หลักฐานลงใกล้กับที่พระยาช้างอาศัยอยู่ และเมื่อพระยาช้างล้ม ก็ได้จัดการ เผาศพอย่างมโหฬารเรื่องพระยาช้างเช่นนี้ไม่เคยปรากฏในชาดกภาษาบาลีหรือในพระไตรปิฎก ฉบับภาษาจีน

ลำดับที่ 7

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องเวสสันตระชาดก (วิศวนตร—อวทาน)
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องเวสสันตระชาดก เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณ ของเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2511
ภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์ชาดกมาลาของอารยอสูร เล่าเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็น พระยาช้างหัสติง และอุทิศพระองค์ให้เป็นทานแก่คนหิวโหย
ภาพเล่าเรื่องบุรุษกำลังยืนพูดอยู่กับบุรุษและสตรีคู่หนึ่ง บุรุษและสตรีนั้นแสดงความสนิทสนม ซึ่งอาจเป็นสามีภรรยากัน โดยตีความว่าเป็นภาพตอนพระเวสสันดรกำลังประทานพระมัทรีแก่ ท้าวสักราช (พระอินทร์) ซึ่งจำแลงเป็นพราหมณ์มาทูลขอ

ลำดับที่ 8

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องชาดกหัสติง
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
ลักษณะ ขนาด กว้าง 95 ซม. ยาว 44.2 ซม. หนา 5 ซม.
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องชาดกมหากปิเดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทนอ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้น ทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2511
ภาพเล่าเรื่องมหากาปี จากคัมภีร์ชาดกมาลาของอารยสูรในภาษาสันสกฤต เล่าเรื่องเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาวานร ได้ช่วยเหลือชายหลงป่าให้กลับบ้านได้ปลอดภัย แม้จะรู้ว่าตนกำลังจะถูกชายผู้นั้นทำร้ายถึงชีวิตก็ตาม
มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ในชาดกภาษาบาลีคือมหากปิชาดกเรื่องราวเช่นเดียวกันปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชาตกัสตวะ อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์ภาษาจีนชื่อเกนเปนชัวอิเชียะยัวะพิไนเยโพเสงชิชายผู้นั้นก็มิได้พลาดเป้า หมายของตน และวานรก็ตกเป็นอาหารของเขาภาพของเรื่องนี้ที่คล้ายคลึงที่สุดกับภาพซึ่งแสดงที่เจดีย์ จุดประโทนก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตาที่ 17 และบนยอดถ้ำพระโพธิสัตว์ที่เมือง กิซิล ณ ที่นี้จะเห็นภาพวานรกำลังสนทนากับชายซึ่งตกอยู่ในก้นเหว

ลำดับที่ 9

ชื่อ ภาพเล่าเรื่องศยามกะชาดก (สุวรรณสาม)
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
ลักษณะ ขนาด กว้าง 95 ซม. ยาว 44.2 ซม. หนา 5 ซม.
พบที่ เจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ เจดีย์จุลประโทน อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้น ทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2511
แผ่นปูนปั้นภาพเล่าเรื่องสยามกะชาดก (สุวรรณสาม) เป็นแผ่นปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับด้วยภาพบุคคล ด้านหลังติดกับแผงอาบปูน ภาพเล่าเรื่อง บุคคล 2 คน กําลังโศกเศร้าเหนือร่างของอีกบุคคลผู้หนึ่ง ดีความได้ว่าคือเรื่องราวในสยามกะขาดก ตอนที่บิดาของศยาม กะกำลังโศกเศร้าอยู่เหนือร่างของสยามคะ ที่สิ้นชีพด้วยธนูอาบ ยาพิษในขณะที่พระราชากบิลยักขราชผู้กระทำการสังหารกำลัง ทรงพยายามที่จะดึงเอาลูกธนูออกมาจากร่างของสยามกะ
นอกไปจากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องราวของศยามกะก็มีปรากฏ อยู่ในคัมภีร์อวทาน กัลปลดา คัมภีร์ราษฎรปาลปริปฤจฉา มหากรรมวิภังค์และ ลลิตวิสตร นอกจากนี้ยังไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชาตกัสตวะในแคว้นโคตานด้วย

บรรณานุกรม

สมลักษณ์ คำตรง . (2564). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมจดีย์... กรุงเทพ ฯ ครั้งแรก. โรงพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. เขตการศึกษาที่1กระทรวงศึกษาธิการ.
ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2547).ศิลปะทวารวดีวัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย.พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัทวิริยะธุระกิจ จำกัด. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร.สืบค้นเมื่อ 21ตุลาคม2566.จาก.โบราณวัตถุ – Smart Museum (finearts.go.th).
สยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.(2565).สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2566. จาก . Facebook .
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร.(2545).เอกสารประกอบโครงการสัมมนาทาง วิชาการเรื่องลุ่มน้ำท่าจีนถิ่นวัฒนธรรม แหล่งสำคัญทวารวดีศรี อาณาจักรเอกลักษณ์งานศิลป์ถิ่นสนามจันทร์.
นายพิริยะ ไกรฤกษ์.ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล.(2517).พุทธศาสนนิทาน ที่ เจดีย์จุลปะโทน.