แห่นางแมว

ความเป็นมาและความสำคัญ

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมน้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก เกษตรกรมีความเชื่อว่า "ฝน" เป็นสิ่งที่เบื้องบนประทานลงมาเมื่อใด ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลการเพาะปลูกพืชพันธุ์ดำเนินไม่ได้จึงต้องทำพิธีขอฝนหรือทำนายฝน ประเพณีขอฝนมีอยู่หลายรูปแบบปรากฏทั้งในภาคเหนือ กลาง และอีสาน
ตามความเชื่อว่าเหตุที่ฝนไม่ตกมีหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาเปลี่ยนแปลงชาวบ้านหย่อนในศีลธรรมเจ้าเมืองหรือเจ้าแผ่นดินไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นต้น ดังนั้น หากมนุษย์ต้องการให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ควรตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงต้องทำพิธีอ้อนวอนขอฝน โดยการใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที
ในอดีตวิธีการคือหาแมวมา โดยมากคัดเลือกแมวไทยพันธุ์สีสวาด ตั้งแต่ 1-3 ตัว สาเหตุที่ต้องเลือกแมวพันธุ์นี้เพราะเชื่อว่า สีขนแมวเป็นสีเดียวกับเมฆ จะทำให้เกิดฝนตกได้ แต่บางแห่งก็ใช้แมวดำ จากนั้นนำนางแมวมาใส่กระบุงหรือตะกร้าหรือเข่งก็ได้ แล้วสอดไม้คานให้สองคนหาม จัดดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ แต่ก่อนที่จะนำนางแมวเข้ากระบุง คนที่เป็นผู้อาวุโสที่สุด จะพูดกับนางแมวว่า "นางแมวเอย …ขอฟ้าขอฝน ให้ตกลงมาด้วยนะ"
ประเพณีแห่นางแมวที่ตำบลยอดดอนยายหอมอำเภอเมืองนครปฐมก็มีที่มาที่มันค่อนข้างจะยาวนาน จากในอดีตเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือการทำนา เพราะการทำนาเป็นอาชีพที่ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ฉะนั้นก็จะมีเรื่องของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดินฟ้าอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของกลุ่มที่ทำเกษตรกรรม ประเพณีแห่นางแมวเพื่อที่จะขอฝนเนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเอามาประกอบเกษตรกรรมของชาวบ้าน พิธีแห่นางแมวของดอนยายหอมก็จะคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย โดยการที่จะมีสัตว์ที่เราเชื่อว่าจะกลัวน้ำก็คือแมว ทำไมต้องเป็นแมวเพราะว่าแมวเป็นสิ่งที่เจอกันได้ทั่ว ๆ ไปในสังคมไทย แต่ว่าเมื่อในอดีตพื้นที่ดอนยายหอมก็จะใช้แมวที่เป็นแมวจริง ในการเดินแห่ แต่ว่าในปัจจุบันด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปความเชื่อหลายอย่าง การทารุณสัตว์ อาจมีการปรับเข้ามาทำให้ ณ ปัจจุบันไม่ได้ใช้แมวจริง ๆ แล้วก็จะเป็นตุ๊กตาแมวซึ่งเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแมวในการที่จะแห่ในพิธีแทน
จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน กล่าวว่า ประเพณีแห่นางแมวไว้ว่า แห่นางแมวมีหลายพื้นที่แต่นครปฐม ที่ดอนยายหอมปัจจุบันนี้ก็มีเป็นบางปี ปีไหนถ้าฝนแล้งฝนไม่ตกก็ทำการขอฝนแห่นางแมวเอาแมวปลอมใส่ตะกร้า แล้วแห่ไปต่ละบ้านถ้าแห่ครั้งเดียวฝนตกก็หยุด ถ้าฝนไม่ตกก็แห่ 3 วัน จัดเดือนมิถุนายนหรือกันยายน สมัยอดีตบ้านดอนยายหอมเขาทำนากันทั้งนั้น ไม่มีบ่อกุ้ง ไม่มีบ่อปลา ทำนากันทั้งหมด จากนี้ไปถึงบางแขม ศาลากลางมองเห็นเป็นทุ่งนาไปหมด

พระยาอนุมานราชธน

พระยาอนุมานราชธนให้ข้อสังเกตว่า แมวเป็นสัตว์ไม่ชอบน้ำโบราณจึงถือว่าเป็นตัวแล้งเมื่อแมวถูกน้ำสาดเปียกปอนก็จะหายแล้ง ชาวบ้านก็เชื่อว่าแมวเป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้งเช่นกัน จึงจับแมวตัวเมียมาใส่ "ตะข้อง" หรือ ชะลอม หรือเข่ง ตะกร้า เอาไม้คานสอดเข้าไปในตะข้องแล้วพากันแห่ตระเวนไปทั่วหมู่บ้าน ในขบวนแห่มีคนตีกลอง กรับ ฆ้อง หรือฉิ่ง และจะร่วมกันร้องเพลงแห่นางแมว โดยมีคำร้องสั้นๆง่ายๆ แต่สัมผัสคล้องจองกันดังนี้ "นางแมวเอย มาร้องแจ้วแจ้ว นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ ร้องไห้ขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที มีแก้วนัยน์ตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกที มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อตาลูกเขย นอนก่ายหน้าผาก พ่อหม้ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าหัวห้อย พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว มาร้องแจ้วฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา” เมื่อเคลื่อนขบวนแห่ ต่างก็ร้องบทแห่นางแมว ซึ่งมีข้อความผิดเพี้ยนกันไปแล้วแต่ท้องถิ่น บางบทมี ถ้อยคำกระเดียดไปทางหยาบโลน เมื่อแห่ถึงบ้านใคร เจ้าของบ้านก็จะเอากระบวยตักน้ำสาดลงไปในชะลอมหรือตะกร้าที่ขังแมวอยู่ จากนั้นเจ้าของบ้านก็ให้รางวัลแก่พวกแห่ เป็นเหล้า ข้าวปลา ไข่ต้ม หรือของกินอย่างอื่น ส่วนมากมักให้เงินเล็กน้อยแก่คนถือพานนำหน้ากระบวนแห่ เสร็จแล้วก็เคลื่อนต่อไปยังบ้านอื่นๆ จนสุดเขตหมู่บ้าน แล้วก็กลับมาชุมนุมเลี้ยงดูกันเป็นที่ครึกครื้น พร้อมทั้งปล่อยแมวให้เป็นอิสระ ถ้าฝนยังไม่ตก ก็ต้องแห่ซ้ำในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆ ไปจนกว่าฝนจะตก ส่วนการแห่นางแมวของทางภาคเหนือไม่แตกต่างจากทางภาคอีสานและภาคกลาง คือจับแมวใส่ในชะลอมหรือตะกร้า ประดับประดาด้วยดอกไม้ แล้วก็หามตะกร้านั้นออกแห่แหนไปตามหัวบ้านท้ายบ้าน บรรเลงด้วยฆ้องกลอง เมื่อขบวนแห่ผ่านไปที่บ้านหลังใด บ้านหลังนั้นก็จะเอาน้ำมาสาดนางแมว

พิธีแห่นางแมวที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ ตาเถรยายชี เจ้าย่าบางยางและศาลท่านขุน

“นางแมวเอยมาร้องแป้วแป้ว ที่ฟากข้างโน้นขอฟ้าขอฝน รดแมวข้ามั่งค่าจ้างแมวมาได้เบี้ยยี่สิบ มาซื้อหมากดิบ มาล่อนางไม้นางไม้ภูมิใจ นุ่งผ้าตะเข็บทองไอ้หุนตีกลองไอ้หักบ้ากะตูไอ้งูฟันกัน หัวล้านตีกลองฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา เต็มทุ่งเต็มท่าเต็มนาสองห้อง”
การทำพิธีแห่นางแมวจะจัดพิธีขึ้นทุกปีในเดือนมิถุนายนหรือถ้าเดือนไหนฝนฟ้าตกตามฤดูกาลก็จะไม่มีพิธีดังกล่าว ซึ่งก่อนวันเริ่มงานชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญจะเตรียมดินโคลนตามทุ่งนามาปั้นหุ่นตาเถร ยายชี ซึ่งดินที่ใช้จะมีกลุ่นค่อนข้างรุนแรงเสมือนเป็นตัวแทนสิ่งที่ไม่ดีสิ่งสกปรกมาปั้นหุ่น
ในการปั้นหุ่นตาเถรยายชีนั้นใช้เวลานานกว่า 7 วัน เนื่องจากหุ่นปั้นมีขนาดและรูปร่างเท่าคนจริงและกลิ่นดินโคลนที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งลักษณะของหุ่นปั้นจะปั้นให้ตาเถรยายชีกำลังนั่งอยู่ในท่าเสพสมกัน มีการปั้นหน้าตาที่สื่อถึงความเป็นเพศชายและเพศหญิงนำเชือกฟางมาเป็นผม และนำตัวแทนของท่านขุนมาร่วมพิธีแห่นางแมวนั่นคือ ปลักขิก
วันพิธีแห่นางแมวที่ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ชาวบ้านดอนยายหอมจะแต่งตัวสีสันสดใส ดนตรีร่วมขบวนชุดใหญ่โดยในขบวนแห่จะประกอบด้วยแมวปลอมในตะกร้าคนแบกหาบแมวปลิกขิกในตะกร้าหลายอันหาบใส่ข้าวเมื่อเริ่มเดินขบวนจะมีผู้นำตะโกน“นางแมวเอยมาร้องแป้วแป้วที่ฟากข้างโน้นขอฟ้าขอฝนรดแมวข้ามั่งค่าจ้างแมวมาได้เบี้ยยี่สิบมาซื้อหมากดิบมาล่อนางไม้นางไม้ภูมิใจนุ่งผ้าตะเข็บทองไอ้หุนตีกลองไอ้หักบ้ากะตูไอ้งูฟันกันหัวล้านตีกลองฝนก็เทลงมาฝนก็เทลงมาเต็มทุ่งเต็มท่าเต็มนาสองห้องฮิ้ว”ซึ่งการแห่นางแมวขบวนของชาวบ้านจะเดินแห่ไปตามบ้านชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทางจะมีการนำน้ำมารใส่แมวที่อยู่ในตระกร้าและจะมาร่วมกันทำบุญ เช่น เงิน ข้าวสาร เป็นต้น ซึ่งในระหว่างทางชาวบ้านที่ถือปลักขิกตัวแทนท่านขุนจะนำไปทิ่มแทงในหมู่บ้านหรือบ้านต่างๆ เพื่อให้เทวดาของบ้านโกรธเพราะว่าถ้าหากเทวดาโกรธอาจจะบันดาลให้ฝนตกลงมาเมื่อขบวนแห่นางแมวเดินทางถึงศาลแม่ย่าบางยางแล้วจะมีพิธีกรรมเข้าร่างทรงของแม่ย่าบางยางและจะมีการทำนายว่าในอนาคตหมู่บ้านดอนยายหอมอำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม จะเป็นอย่างไรพอเสร็จพิธีกรรมร่างทรงของแม่ย่าบางยางในช่วงเย็นจะนิมนต์พระวัดดอนยายหอมมาสวดมนต์ในบทขอฝน ณ ศาลาร่วมใจซึ่งอยู่ข้างๆศาลแม่ย่าบางยางเมื่อพระสวดเสร็จจะมีกิจกรรมที่ชาวบ้านจะทำร่วมกันที่ศาลแม่ย่าบางยางก็คือชมหนังตะลุงและละครต่างๆโดยจะเป็นการจ้างมาเพื่อให้ชาวบ้านตำบลดอนยายหอมได้สังสรรค์เป็นการสร้างความสามัคคีอย่างหนึ่งในหมู่ชาวบ้าน
ปัจจุบันนี้พิธีแห่นางแมวมีพิธีการควบคู่กับพิธีบวงสรวงแม่ย่าบางยางและศาลท่านขุนศาลแม่ย่าบาง ยางอยู่ที่ตำบลดอนยายหอมจะมีความผูกพันธ์กับคนที่ดอนยายหอมรวมถึงการเชื่อมโยงไปยังศาลท่านขุนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ที่อยู่ในบริเวณป่าไผ่ใกล้ๆกับศาลแม่ย่าบางยางซึ่งศาลแม่ย่าบางยางไม่สามารถระบุได้ ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร ร่างทรงของแม่ย่าบางยางจะมีบุคลิกพิเศษ คือ เรียบร้อยและเป็นผู้หญิงสวย ศาลแม่ย่าบางยางในปัจจุบันมีการบูรณะขึ้นมาจากแต่ก่อน ซึ่งศาลแม่ย่าบางยางในอดีตจะเป็นศาลที่เล็ก แต่ได้มีเหตุไฟไหม้จึงทำให้ต้องบูรณะศาลแม่ย่าขึ้นมาใหม่
ในบริเวณศาลท่านขุนจะมีไม้สลักที่เป็นตัวแทนของอวัยวะเพศชาย เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของศาลท่านขุนซึ่งมีการบวงสรวงทำพิธีบูชาพร้อมแม่ย่าบางยางเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการทำพิธีแห่นางแมวและการปั้นตาเถรยายชี
ปัจจุบันตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรมแล้ว แต่ทำอาชีพเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำนาไปเป็นการทำนากุ้งชาวบ้านก็ยังคงยึดในประเพณี การแห่นางแมว การปั้นหุ่นตาเถรยายชี การบวงสวงศาลแม่ย่าบางยางและศาลท่านขุนทำให้ชุมชนยังมีความเข้มแข็งกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโลกในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแต่ว่าความเชื่อจะยังรวมผู้คนในชุมชนมารวมตัว ยังคงมีการสืบสานและความสามัคคีได้อย่างต่อเนื่อง

คุณค่าของประเพณีแห่นางแมวและความเชื่อ

ประเพณีแห่งนางแมวเป็นประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ในหลาย ๆ พื้นที่ที่มีอาชีพเกษตรกรรมคุณค่าของประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา พิธีแห่นางแมวไม่ใช่พิธีที่ทำกันเป็นประจำทุกปีเหมือนสงกรานต์ หรือสารท อันเป็นพิธีกรรมที่มีวาระกำหนดแน่นอน เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติของคนทั่วไป พิธีแห่นางแมวเป็นพิธีที่ทำกันเฉพาะเมื่อยามเกิดความไม่ปกติขึ้นในชีวิตชาวนา คือฝนแล้งพิธีกรรมนี้จึงสะท้อนพฤติกรรมที่ไม่ปกติของชุมชนชาวนาไทยหลายต่อหลายอย่าง อันไม่อาจถือได้ว่า เป็นแบบแผนความสัมพันธ์ตามปกติของสังคมชาวนาไทยพิธีแห่นางแมวจึงเป็นพิธีของชุมชนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะของผู้ที่เชื่อถือในเรื่องนี้บางกลุ่ม ในระหว่างเดินแห่นางแมวนั้นก็มีการร้องเพลงแห่นางแมว คุณเอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ว่า “ไม่กำหนดว่าใครจะร้องตอนไหนตรงไหน ต่างคนต่างช่วยกันนึก ใครเหนื่อยก็หุบปากเสียหน่อย ใครไม่เหนื่อยก็ร้องกันต่อไป ถึงมืดถึงค่ำก็สนุกสนานไม่ค่อยยอมเลิก”ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพิธีแห่นางแมวซึ่งกระทำในยามวิกฤติของชาวนากลับเป็นพิธีแห่งความสนุกสนาน ไม่ใช่พิธีแห่งความเศร้า ความกลัว หรือความศักดิ์สิทธ์เคร่งขรึม
บทเพลงแห่นางแมวก็มีหลายสำนวน หากประด็นหลักที่ร้องตรงกันคือ 1. ภาพแห่งความสมบูรณ์ของไร่นาอันเกิดจากน้ำท่วมและน้ำฝนบริบูรณ์ 2. ความคือคำที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและการร่วมประเวณีนอกจากนี้ในขบวนแห่นางแมวของดอนยายหอมยังมีการแบกเอา “ปลักขิก” ทาสี จัดทำให้มีขนาดใหญ่ร่วมขบวนไปด้วยหลายอัน
ความอุดมสมบูรณ์กับการร่วมเพศนั้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันในความคิดของคนหลายวัฒนธรรมจนเกือบจะเรียกว่าเป็นสากลในยุโรปมีการขุดพบตุ๊กตาเพศหญิงสมัยหิน มักทำเป็นคนท้องมีอวัยวะเพศใหญ่ผิดส่วน เชื่อกันว่าตุ๊กตาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีให้เกิดความสมบูรณ์ศิวลึงค์ที่ตั้งบนฐานโยนีก็เป็นการสร้างสัญลักษณ์ของความงอกงาม พิธีกรรมและคติความเชื่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็สัมพันธ์ความงอกงามสมบูรณ์กับเรื่องเพศมาแต่โบราณ ดังที่พบได้ในรัฐโบราณ ความเป็นจริงในการแห่นางแมวจริงๆ นั้นมีบทร้องที่เกี่ยวกับการร่วมเพศและอวัยวะเพศมากกว่าที่ปรากฏในบทร้องซึ่งจดๆ กันไว้มากมาย เมื่อนักวิชาการไปไถ่ถามชาวบ้านมักไม่ร้องให้หมดร้องได้ไม่เท่าจริงร้องเป็นคำสุภาพแทน หรือไม่ก็ตัดข้ามไปเสียเลยก็มีเพราะบทร้องแห่นางแมวมักจะเต็มไปด้วยความและคำ “หยาบ” จึงไม่ใช่เพราะชาวบ้านเป็นคน “เร่อร่าหยาบคาย” แค่ความและคำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของพิธีกรรมที่ไม่ใช่เรื่องหยาบคาย แต่ถ้านอกพิธีกรรมแล้ว เขาเองก็กระดากปากที่จะพูดคำเหล่านี้
การแห่นางแมวมีข้อที่พึงสังเกต 2 ประการ ในการทำพิธีประการแรกคือคำหยาบในบทร้องนั้นเป็นภาวะไม่ปกติของชีวิตชาวบ้าน กล่าวคือไม่ใช่วิสัยที่ชาวบ้านจะพูดหยาบคายประการที่สองไม่มี “ศาสนา” ในพิธีกรรมนี้พระไม่มีบทบาทไม่ต้องทำบุญตักบาตรก่อนแห่นางแมวไม่ต้องรับศีล
นอกจากนี้ในพิธีแห่นางแมวสะท้อนคุณค่าของการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ความแห้งแล้งเป็น วิกฤตที่นำมาซึ่งความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของชุมชน เพื่อนบ้านที่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมาอาจกลายเป็นสายให้โจรมาปล้นบ้านหรือมาลักควาย ทรัพย์ที่เคยเจือจานกันได้กลับถูกเก็บงำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวตนเอง ฝนแล้งจึงไม่ใช่วิกฤตของชีวิตครอบครัวเท่านั้นแต่เป็นวิกฤตของชุมชนทั้งหมดแต่คนในชุมชนสมัยก่อนเข้มแข็งต่อสู้กับธรรมชาติฝนแล้ง มีกลไกในวัฒนธรรมชาวนาที่จะกอบกู้แลรักษาความเป็นปึกแผ่นของชุมชนไว้ แห่นางแมวก็เป็นกลไกลสำคัญหนึ่ง
ความสนุกสนานของขบวนแห่นางแมวจึงปลุกปลอบใจชาวนาในยามวิกฤต ว่าแม้ข้าวจะสิ้นยุ้งฉาง
ทรัพย์สมบัติของแต่ละคนจะไม่เหลือหลอ แต่ทุกคนยังมีชุมชนของตนอยู่อย่างมั่นคง และชุมชนนี้เองที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอดจากภัยพิบัตินั้นได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่น้ำซึ่งเริ่มจะหายากขึ้นยังเอามาสาดทิ้งสาดขว้างได้ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้แล้วทุกคนก็จะอยู่รอดได้เอง การให้แก่ชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการเก็บงำไว้เฉพาะตัว เพราะความปลอดภัยของทุกคนอยู่ที่การคงอยู่ของชุมชน ถ้าวิเคราะห์ในสภาพปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพิธีแห่นางแมวสะท้อนถึงความเสมอภาคของคนในอดีตเช่นกัน ผู้หญิงซึ่งถูกคาดหวังในยามปกติ ไม่ให้พูดในเรื่องเพศจนเกินไป แต่ในขบวนแห่นางแมวมีบทบาทในการร้องเพลงแห่นางแมวเหมือนกันกับผู้ชาย และถือปลัดขิกอันใหญ่แบกไปกับขบวนนั้น ไม่ได้แบกไปเฉยๆ แต่ร่อนขึ้นทิ่มแทงหยอกล้อกันเองและคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมขบวนกันอย่างสนุกสนาน ถึงบ้านใครก็เอาปลัดขิกนั้นทิ่มฝาบ้าน ไม่ว่าบ้านนั้นจะมีลูกสาวที่ยังไม่แต่งงานอยู่สักกี่คน และไม่ว่าบ้านนั้นจะเป็นของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านคนใดของหมู่บ้าน ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องพิธีกรรม มีแต่ความเท่าเทียมกัน
การแห่นางแมวจึงเป็นเรื่องของการฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งพลังอันแข็งแกร่งที่สุดของชุมชนชาวนาในอันที่จะเผชิญภัยธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

บรรณานุกรม

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เล่มที่ 26
วัลลี นวลหอม (2566).การสัมภาษณ์ประเพณีแห่งนางแมว.อาจารย์สาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
นิธิ เอียวศรีวงศ์. “แห่นางแมว กับ ‘วิกฤต’ ในวัฒนธรรมชาวนา, ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น , กางเกงใน และ ฯลฯ , สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2557