โบราณวัตถุ

จารึกวัดพระงาม

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีเปิดเผยถึงการพบศิลาจารึกซึ่งเป็นหลักฐานใหม่จากการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม
ศิลาจารึกดังกล่าว ถูกพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการศึกษาพื้นที่ด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม ติดกับฐาน ด้านนอกของแนวอิฐที่ก่อสร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป ลักษณะการพบศิลาจารึกวางตามยาวหงายด้านหน้าที่มีตัวอักษรขึ้นติดชิดกับขอบด้านนอกเกือบตรงตำแหน่งกึ่งกลางของแนวอิฐที่สร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป แนวอิฐนี้สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในระยะหลังเพื่อขยายฐานด้านทิศเหนือของสถูปให้กว้างขึ้น สำหรับลักษณะของศิลาจารึกเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 50เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร หนา 14.50 เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ พื้นผิวด้านหน้าบางส่วนแตกหลุดร่อนบริเวณส่วนขอบด้านขวาและขอบด้านล่าง พื้นผิวส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปรอยอักษรเต็มพื้นผิวด้านซ้าย นอกจากนี้ยังพบส่วนที่แตกหลุดออกมาเป็นส่วนขนาดเล็กอีก 10 ชิ้น รวมทั้งส่วนที่แตกหลุดร่อนออกมาเป็นชิ้นขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง
นางสาวพิมพรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ระบุว่าศิลาจารึกนี้เขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุพุทธศตวรรษที่ 11-12 โดยมีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า 'ทวารวตีวิภูติ' เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ 2 ระบุว่า ศิลาจารึกดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้อ่านข้อความได้อย่างสมบูรณ์โดยล่าสุดได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงามมีเป้าหมายงานด้านโบราณคดี งานย้ายเจดีย์บรรจุอัฐิ และงานเสริมความมั่นคง พบลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างจึงสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทสถูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จหรือกระเปาะซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ขนาดสถูปกว้างประมาณ กว้าง x ยาว 41.50 เมตร มีรูปแบบศิลปะบางประการคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์ กลางเมืองโบราณนครปฐม นับเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เครดิตภาพ จารึกในประเทศไทย

เครดิตภาพ จารึกในประเทศไทย

การค้นพบครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่จะเพิ่มเติมข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี คือการค้นพบหลักศิลาจารึกบริเวณพื้นที่ฐานด้านทิศเหนือของสถูปวัดพระงาม แผ่นจารึกเป็นหินเถ้าภูเขาไฟรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาว 96.3 เซนติเมตร กว้าง 50.2 เซนติเมตร และหนา 14.5เชนติเมตร เป็นหลักศิลาจารึกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดหลักหนึ่ง ปรากฏข้อความมากที่สุด และมีความชัดเจนงดงามของรูปอักษรมากที่สุดนับตั้งแต่มีการศึกษาจารีก สมัยวัฒนธรรมทวารวดี หลักศิลาปรากฎอักษร 6 บรรทัด จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกเป็นโศลก บรรทัดละ 4 วรรค ใจความสำคัญของเนื้อหาในจารึกสรุปได้ว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญพระราชา ผู้มีความสามารถทรงได้ชัยชนะในสงครามนำความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูลและบ้านเมือง มีเมืองทิมิริงคะ เมืองหัสตินาปุระ และทวารวดี เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป ทั้งได้ถวายสิ่งของไว้กับพระศิวะ ได้แก่ ต้นมะม่วงทอง 30 ต้น แม่โค 400 ตัว และลูกนกคุ่ม 156 ตัว ดังได้บันทึกไว้ในแผ่นศิลานี้
จากเนื้อหาในจารึกที่สรุปมาข้างตัน แสดงว่าศิลาจารึกแผ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชาผู้มีความเก่งกล้าสามารถ ทรงมีชัยชนะในการสงคราม โดยหลักการของการสร้างจารึกก็เพื่อใช้เป็นประกาศ บอกเล่าเรื่องราวของผู้นำหรือพระราชาเพื่อให้หมู่ชนหรือประชาชนในสังคมนั้น ๆได้ทราบเรื่อง จากนั้นก็ประดิษฐานไว้ในที่คนทั่วไปเห็นได้ชัดเจน กรมศิลปากรมอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบประเภทและองค์ประกอบของหิน คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีสาเหตุการเสื่อมสภาพ รวมทั้งดำเนินการอนุรักษ์ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาสภาพและเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับศิลาจารึกนี้ และเมื่อตรวจสอบลักษณะหน้าตัดของตัวอักษร จากชิ้นส่วนผิวศิลาจารึกที่แตกหลุดออก ทำให้เห็นถึงลักษณะของอักษรที่มีความน่าสนใจ ประกอบด้วยร่องอักษรรูปตัววี และตัวยู ความลึกและกว้างที่สม่ำเสมอ ขอบอักษรที่โค้งมนสวยงาม บ่งบอกถึงฝีมือและความสามารถของช่างในการเลือกใช้เครื่องมือเพื่อการสร้างอักษร สันนิษฐานว่าเครื่องมือที่ใช้มีความหลากหลายขึ้นกับความถนัดของช่าง

ข้อสังเกตอันเนื่องด้วยศิลาจารึกวัดพระงาม

ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อสังเกตบางประการที่ส่องสะท้อนให้เห็นความจริงอันน่าพิจารณา ดังนี้
1. ตัวอักษรที่ปรากฎในศิลาจารึกนี้ เป็นอักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12ซึ่งจารึกอักษรได้สวยงาม เป็นระเบียบตามแนวบรรทัด มีสระบนสูงเด่นเป็นวงกลมเหมือนลูกโป่ง สระล่างและเชิงตัวอักษรยาวห้อยย้อยสวยงาม บางตัวมีลักษณะเหมือนผลชมพู่ ทำให้จารึกหลักนี้มีความน่าสนใจที่มีรูปแบบตัวอักษรแปลกตา แต่ก็ยังคงสัณฐานและรูปลักษณ์เป็นตัวอักษร ปัลลวะ รุ่นพุทธศตวรรษที่ 12 อย่างชัดเจน หากพิจารณในรายละเอียดเพิ่มเติมจะพบปัลลวะที่ใช้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ปนอยู่ด้วย เช่น สระเอ และอักษร ย. เป็นต้น แสดงว่าผู้จารึกอักษรน่าจะเป็นอาลักษณ์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างยิ่งและที่สำคัญน่าจะเป็นอาลักษณ์อาวุโสที่เคยรู้จักและเคยใช้ รูปอักษรปัลลวะแบบเดิมที่เคยใช้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11 มาก่อนจึงนำอักษรแบบเก่ามาใช้ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นยังมีสุนทรียอักษรอย่างเด่นชัดจึงจารึกข้อความให้มีเอกลักษณ์จนเป็นที่ยอมรับของนักจารึกศึกษาในประเทศศิลาจารึกที่สวยงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
2. ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกหลักนี้ เป็นภาษาสันสกฤตซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัย หากพิจารณาสถานที่พบซึ่งเป็นแหล่งโบราณดีในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพานครปฐม หากเป็นจารึกอักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 11-12 มักเป็นจารึกที่ใช้ภาษาบาลีแสดงข้อธรรมทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นที่มาของความรู้และความเข้าใจว่า รูปอักษรปัลลวะระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 11-12 ที่พบบริเวณภาคกลางของประเทศไทย คล้ายคลึงกับ รูปอักษรปัลลวะที่ชนชาติปยูในประเทศเมียนมารใช้อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12ซึ่งรูปแบบอักษรนี้มักใช้ควบคู่ไปกับแบบอย่างทางศิลปกรรมสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11-16 แต่จารึกหลักนี้เป็นภาษาสันสกฤต จึงศึกษาเปรียบเทียบกับข้อมูลศิลาจารึกร่วมสมัยในหนังสือจารึกในประเทศไทยที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว พบว่า จารึกร่วมสมัยที่พบบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในจังหวัคนครปฐม ลพบุรี และจังหวัดชัยนาท จำนวน 10 รายการ ล้วนเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น ส่วนบริเวณภาคตะวันออกที่จังหวัดสระแก้ว เดิมเป็นจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 3 รายการ ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในจังหวัดนครราชสีมา เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์อุบลราชธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และจังหวัดยโสธร จำนวน 18 รายการ ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต ส่วนบริเวณภาใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพังงาจำนวน 3 รายการ เป็นจารึกภาษาสันสกฤต ส่วนจังหวัดพังงา จำนวน 1 รายการ เป็นภาษาทมิฬ
จากการศึกษาเปรียบเทียบนี้ แสดงให้เป็นว่าศิลาจารึกวัดพระงามไม่ใช่ของเดิมในพื้นที่บริเวณภาคกลาง แต่เป็นการเคลื่อนย้ายจารึกมาจากที่อื่น สอดคล้องกับข้อมูลการขุดศึกษาพื้นที่ด้านทิศเหนือของโบราณสถานในบริเวณวัดพระงาม เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาซึ่งได้พบแผ่นศิลาจารึกวางซ้อนอยู่บนแผ่นศิลาแลงใกล้กับแนวอิฐที่ก่อเป็นแนวขอบฐานเจดีย์ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นช่วงสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 แสดงว่าจารึกหลักนี้หมดประโยชน์และความสำคัญลง ในระยะเวลาต่อมามีค่าเป็นเพียงแผ่นศิลาที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ ดังที่เห็นเมื่อแรกพบ" แม้จะมีตัวอักษรที่สวยงามเป็นฝีมือชั้นครูก็ตาม
3. เนื้อหาของศิลาจารึกหลักนี้กล่าวถึง พระปศุปติ ในบรรทัดที่ 6 และแสดงจำนวนสิ่งของที่ถวายเทพเจ้าพระปศุปติ เป็นอวตารหนึ่งของพระศิวะตามลัทธิปาศุปัตของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูไควนิกาย แพร่หลายอย่างมากในอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 มีผู้ก่อตั้งนิกาย คือ ลากุลีศมักทำรูปเคารพเป็นเทพ มี 4 กร ถือขวานและกวางไว้ในพระหัตถ์ ทรงเป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ นิกายปาศุปตะนี้ มีกล่าวถึงในจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกอีกหลายหลักในกัมพูชานอกจากนั้นยังพบรูปเคารพทั้งในประเทศไทยและกัมพูชาด้วย แต่ลัทธินี้คงจะมิได้เป็นที่นิยมนับถือในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ศิลาจารึกหลักนี้ซึ่งทำหน้าที่เป็นประกาศกรณียกิจของพระราชาผู้มีความเก่งกล้าสามารถ จึงหมดความสำคัญลงโดยสิ้นเชิงในเวลาต่อมา เพราะเป็นคติความเชื่อจากศาสนาที่ต่างกัน
4. ลักษณะของหินที่ใช้เป็นวัสดุรองรับการจารึก การพบศิลาจารึกหลักนี้ นอกจากสร้างความตื่นเต้นที่ได้พบจารึกซึ่งมีลักษณะตัวอักษรที่งดงามเป็นศิลปะอย่ายิ่งแล้วยังมีข้อสงสัยอีกมากตามมา คือ จารึกหลักนี้ใช้หินอะไรเป็นวัสดุรองรับการจารีก หากมองด้วยตาเปล่าเชื่อว่าเป็นหินชนวน เพราะมีลักษณะเป็นชั้นแยกอย่างเห็นได้ชัด จึงสรุปจากประสบการณ์เดิมไปเช่นนั้น แต่ร่องรอยความชำรุดของเนื้อศิลามีความแปลก กล่าวคือ มีชั้นดินแทรกอยู่ภายในมากจนกระทั่งแผ่นหินด้านหน้าหลุดล่อนออก และมีชิ้นส่วนเล็ก ๆ หลุดล่อนออกกองอยู่ใกล้บริเวณที่พบจารึกอีกหลายชิ้นย่อย นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการอนุรักษ์ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาสภาพและ เสริมความมั่นคงแข็งแรงให้แก่ศิลาจารึก ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบประเภทและองค์ประกอบของหิน คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี รวมถึงสาเหตุของการเสื่อมสภาพด้วย

เครดิตภาพ จารึกในประเทศไทย

เครดิตภาพ จารึกในประเทศไทย

ผลการตรวจสอบของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สรุปได้ดังนี้ ประเภทและองค์ประกอบของหินระบุว่า เป็นหินเถ้าภูเขาไฟชนิดไรโอไลต์ (Rhyolite) ซึ่งเป็นหินอัคนีพุ เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดมาก มีปริมาณซิลิกาเป็นองค์ประกอบสูง เนื้อละเอียดประกอบด้วย ผลึกแร่ขนาดเล็ก มีแร่องค์ประกอบเหมือนกับหินแกรนิต แต่ผลึกเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้
อย่างไรก็ดี ลักษณะหินเช่นนี้ยังปรากฏพบในประเทศไทยอีกบางรายการ เช่น จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม แต่บันทึกวัตถุจารึกว่าเป็นหินชนวน ไม่ปรากฎหลักฐานว่าพบเมื่อไรแต่พบที่วัดโพธิ์ร้าง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรปัลลวะ ที่กล่าวได้ว่าเป็นฝีมือชั้นครู เพราะตัวอักษรงดงาม มีความคมชัดใกล้เคียงกับจารึกวัดพระงามโดยใช้ภาษามอญโบราณในการสื่อสาร แต่จารึกชำรุดแตกเป็น 2 ชิ้น ไม่พบศักราช จึงใช้การเปรียบเทียบรูปอักษร สันนิษฐานว่า มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยอาจารย์จำปา
เยื้องเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามอญ ให้คำอธิบายว่า จารึกวัดโพธิ์ร้างนี้ นักปราชญ์ฝ่ายมอญถือว่าเป็นจารึกภาษามอญโบราณที่เก่าสุด มีอายุราว พ.ศ. 1143และจารึกบ้านวังไผ่พบที่ป่าใกล้บ้านวังไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 บันทึกวัตถุจารึกว่า เป็นศิลาประเภทหินภูเขาไฟบะซอลต์ (Basalt)
นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญภาษาตะวันออก ของกรมศิลปากร เล่าว่า ได้เชิญนักธรณีวิทยามาตรวจสอบหินจารึกที่หอสมุดแห่งชาติทั้งหมดครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2526 จึงน่าจะพอสันนิษฐานได้ว่า มีหินภูเขาไฟในบริเวณประเทศไทยที่สามารถนำมาเป็นวัสดุรองรับการจารึกได้

บรรณานุกรม

จารึกในประเทศไทย.(2564).สืบค้นเมื่อ.20 ตุลาคม 2566.จาก. https://db.sac.or.th/inscriptions/news/detail/20510.
สมลักษณ์ คำตรง . (2564). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมจดีย์... กรุงเทพ ฯ ครั้งแรก. โรงพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. เขตการศึกษาที่1กระทรวงศึกษาธิการ.
กรมศิลปากร. (2563). ปกิณกศิลปวัฒนธรรม. เล่ม26. นครปฐม.