พิธีทำบุญสามแพร่งและตุ๊กตาเสียกบาล

ความเป็นมาและความสำคัญ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2525 กล่าวถึงนิยามของ "ตุ๊กตาเสียกบาล" ว่า หมายถึงตุ๊กตาที่ใส่กระทงกาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเช่นผี อย่างดอกไม้ ธูป เทียน ของคาว หวาน แล้วนำไปวางไว้ที่ทางแยก ทางสามแพร่ง หรือนำไปลอยน้ำ แล้วต่อยหัวตุ๊กตาออกกะโหลกศีรษะหรือหัว เป็นตุ๊กตาที่สร้างขึ้นเพื่อเจตนาให้เป็นตัวแทนให้รับเคราะห์แทนคน คล้ายกับว่า ถ้าตุ๊กตารับเคราะห์แทนไปแล้ว คนก็จะแคล้วคลาดปลอดภัย สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในยุคที่การแพทย์ในสมัยโบราณยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้มนุษย์ได้มากพอ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก็จะมีอัตราการเสียชีวิตเพราะปัญหาขณะคลอดสูงการทำคลอดต้องอาศัยหมอตำแย หรือบางท้องถิ่นอาจต้องคลอดกันเองตามมีตามเกิด ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้กับแม่และลูก หรือถ้าเด็กเกิดมาได้ ก็ยังต้องเสี่ยงกับสารพัดโรคภัยตายมากกว่ารอด บางครั้งเด็กที่เกิดมาหน้าตาน่ารัก มีความเชื่อกันว่าผีจะชอบและอยากมาเอาตัวไป สมัยโบราณคนไทยจึงไม่ยอมออกปากชมเด็กแรกเกิดว่า "น่ารัก" แต่จะพูดกันในเชิงแก้เคล็ดว่า "หน้าตาน่าชังยิ่งนัก" เพื่อให้ผีที่ได้ยินเชื่อว่าเด็กคนนี้หน้าตาน่าเกลียด ไม่ต้องมาเอาไป ในความเชื่อของบางชุมชน จะมีการเน้นย้ำความไม่น่ารักของเด็ก ด้วยการปั้นตุ๊กตาเด็กทารกโดยเจาะจงให้มีใบหน้า การที่คนในสมัยโบราณคิดทำพิธีขับไล่ผี ลวงผี เอาใจผี เพราะเชื่อว่าทุกสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย ความผิดพลาด อันตรายใด ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะอำนาจของผี การทำอุบายหลอกผีโดยปั้นตุ๊กตาเป็นรูปแม่อุ้มลูก สำหรับเซ่นผีที่จะมาคุกคามแม่ลูก ใส่เบาะทำด้วยกาบกล้วย พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ นำไปวางทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่ง นัยว่าเพื่อหลอกให้ผีฉงนหลงทาง หรือแทนที่ผีจะมาเอาชีวิตของแม่และลูก ก็ให้ผีเอาตุ๊กตาไปแทนถือได้ว่าไม่มีอะไรติดค้างกัน แม้แต่ผู้ใหญ่หากสงสัยว่าคนในบ้านมีอาการแปลก ๆ เชื่อกันว่าเกิดจากการถูกคุณไสยอาคมหมายเอาชีวิต ดวงตก มีเคราะห์ ดวงไม่ดีไม่มีโชค หรือคนที่สงสัยว่าตัวเองนั้นโดนของโดน คุณไสย ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

พิธีทำบุญสามแพร่งและตุ๊กตา

เสียกบาล

เป็นทุนวัฒนธรรมด้านความเชื่อเรื่องนับถือผี (Social Practices ritual and festive events) ตุ๊กตาเสียกบาล คือ ตุ๊กตาที่นำไปใส่กระทงที่ทำจากกาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเซ่นผี เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน อาหารคาวหวาน แล้วนำไปวางไว้ที่ทางแยก ทางสามแพร่ง หรือนำไปลอยน้ำแล้วต่อยหัวตุ๊กตาออก โดยตุ๊กตาเสียกบาลนั้นเป็นตุ๊กตาดินปั้นที่ทำขึ้นจากความเชื่อของคนไทยที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สร้างขึ้นจากดินเหนียวปั้นเป็นรูปผู้ชายและผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ในอิริยาบถต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือญาติพี่น้อง การปั้นตุ๊กตาเสียกบาลนั้นไม่ต้องใช้ความประณีตมาก ถ้าเป็นผู้หญิงมักนิยมเกล้าผมมวยมีจุก เปลือยอก นั่งตัวตรง ในมือถือของใช้ เช่น ถือพัด หรืออุ้มเด็ก จูงลูก หรือมือทั้งสองข้างพนมเข้าหากัน ถือดอกไม้ เป็นต้น ถ้าเป็นผู้ชายก็มักจะเปลือยอก นุ่งผ้าท่อนล่าง แก้มตุ่ยคล้ายกับคนเคี้ยวหมาก ทำเป็นรูปคนเล่นดนตรี คนหมอบฟังเทศน์ คนอุ้มไก่ชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต
ในสมัยสุโขทัยตุ๊กตาเสียกบาลจะเป็นตุ๊กตาแบบแม่อุ้มลูก พ่ออุ้มลูก แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยคนมีปัญหาเรื่องโรคเด็กและการคลอด-บุตร จึงมีพิธีเสียกบาลที่ทำขึ้นเมื่อเด็กแรกเกิดไม่สบาย ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผี ในปัจจุบันพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องตุ๊กตา- เสียกบาล ยังมีสืบทอดกันมาในหลายพื้นที่ เช่น งานทำบุญซึ่งจัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ หรือในบางพื้นที่ ก็ยังคงมีพิธีกรรมเสียกบาล เป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยจะปั้นตุ๊กตาดินเหนียวเป็นรูปคนเท่ากับจำนวนคนในครอบครัวตามเพศของคนในครอบครัว รวมจนถึงสัตว์เลี้ยงที่มีด้วย ทำพิธีตรงทางสามแพร่ง เมื่อทำพิธีแล้ว ก็จะหักคอ หักแขน หักขาตุ๊กตานั้นเสีย หรือการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาแบบโบราณด้วยตุ๊กตาเสียกบาล ที่สืบทอดความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการพบภาชนะกระทง กาบกล้วย สำหรับใส่ตุ๊กตาและเครื่องเซ่นผี ก็มีคำเรียกภาชนะนี้ว่ากบาลเช่นกัน ลักษณะดั้งเดิมของคำว่ากบาลนั้น คนในยุคก่อนใช้เรียกกระบะ กาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมสำหรับใส่เครื่องเซ่น มีใบตองปูลาดรองพื้น หรือมีกระทงใบตองเล็ก ๆ ใส่อาหาร และมีกาบกล้วยตัดแต่งเป็นรูปคน หรือดินเหนียวปั้นเป็น ตุ๊กตารูปคน และสัตว์เลี้ยงใส่ลงไป จึงเป็นไปได้ว่าตุ๊กตาเอาทิ้งไปพร้อมกับกบาล อาจเป็นที่มาของคำว่า “ตุ๊กตา-เสียกบาล” ได้อีกทางหนึ่ง ในยุคนั้นชาวบ้านจะนำกระบะกระบานไปวางไว้ทางทิศตะวันตก ตรงทางสามแพร่งบนโคกหรือบริเวณกลางทุ่งนา เสมือนว่ากำลังเชื้อเชิญให้ภูตผีมารับเครื่องเซ่นสังเวยนั้น นอกจากนี้ยังมีแนวความคิดจากนักวิชาการที่มีความเห็นต่างออกไป โดยเชื่อกันว่าตุ๊กตา- เสียกบาลนั้นไม่ได้ถูกทุบหัว แต่จะใช้วิธีสะเดาะ-เคราะห์ส่งให้ไปเป็นบริวารผีแทนตัว จึงตัดเล็บตัดผมของตนใส่ลงไปด้วย หากทุบหัวตุ๊กตา ผีอาจโกรธที่ส่งของชำรุดไปแทนตัว จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องทุบหัวตุ๊กตาเสียก่อน แต่เมื่อวางตรงทางสามแพร่งแล้วอาจถูกสัตว์เช่นวัวควายเหยียบย่ำจึงทำให้ตุ๊กตาชำรุด ในพิธีกรรมจะมีการทำกระทงเซ่นไหว้ ขนาดใหญ่ ที่อยู่ตามทางสามแพร่ง คืออะไรและทำเพื่ออะไรเป็นวิธีการอุทิศให้วิญญาณสัมภเวสีเร่ร่อนที่หิวโหย วิญญาณที่ไม่มีญาติ ไม่มีใครทำบุญไปให้ ทั้งนี้วิธีการทำบุญอาจทำได้หลายวิธี แผ่กุศลบุญที่ทำไปให้ด้วยใจบริสุทธิ์ก็ถือเป็นการส่งบุญได้อีกด้วย
ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ครูเผือก คนไทยทรงดำ ได้ให้ความหมายของทางสามแพร่งไว้ว่า “ ทางสามแพร่งก็คือ ทางสามแยก ความหมายของทางสามแยกในความหมายของคนไทย ให้ความหมายที่ไม่ดี แล้วคนไทยเราคิดว่าเป็นที่สิงสถิตของผี อีทางสามแพร่งที่แยกไหนที่ ติดกับคอสะพาน ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่เอาเลย เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผี ผีในที่นี้ก็ไม่ใช่ผีดี เป็นของผีตายโหง ถือว่าเป็นอุบาตร สังเกตดูได้ ไม่มีไครที่ไปปลูกบ้านตรงทางสามแยก หรือมีใครไปทำไรตรงทางสามแยก น้อย แต่ถามว่า มีไหม มี สถานที่มีจริงไหม มีแต่ว่าบุคคลที่อยู่ก็คือต้องดวงดี สถานที่ทางสามแยกเป็นทางที่ไม่ดี แล้วจะดูยังไง ไหนสามแยกสามแพร่ง ก็มีวิธีการดูมันเป็นสามทางเข้าได้สามทางทั้งหมดเลยที่เป็นจุดตัดสามทาง ก็คือทางสามแพร่งทั้งหมด ตามความเชื่อเราคงจะเคยได้ยินทางสามแพร่งผีตายโหงตัวตายตัวแทนเคยได้ยินไหม ฉะนั้นตัวตายตัวแทนปุ๊บ มึงจะเอากูไปแต่กูไม่ไปให้คนนี้ไป จึงเกิดตุ๊กตาเสียกะบาล แทนตัว คนเจ็บ เช่นตุ๊กตาเสีย-กะบาลคือตุ๊กตาที่ทำพิธีกรรมแทนตัว ”
ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมศาลา ได้กล่าวถึงความเชื่อของคนในพื้นที่ไว้ว่า ”ความเชื่อก็คือเราเป็นคนในพื้นที่ บรรพบุรุษเราปฏิบัติกันมาสืบทอดกันมา ก่อนที่เราจะเกิด คือพูดถึงความเชื่อเราก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอยากทำตามขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เขาสืบต่อกันมา ทำแล้วความเป็นอยู่ชีวิตครอบครัวดีขึ้นด้วย แล้วก็รักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามด้วยคือประเพณีนี้จะไหว้วันเพ็ญเดือนสาม เคยฟังแต่ เรื่องเล่าถ้าเราได้ไปส่งกะบาลเขาก็จะคุ้มครองครอบครัวเราไม่ให้มีภัยมีอันตราย ก็จะมีแต่สิ่งดีๆ เวลามีคนมาส่ง ก็จะไปส่งไปกล่าวเสร็จเรียบร้อยก็จะถือมีดไปด้วย”