ข้าวหลาม
พื้นที่ชุมชนวัดพระงาม
ข้าวหลาม พื้นที่ชุมชนวัดพระงาม
“ ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี องค์พระเจดีย์สูงเสียดฟ้า” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดนครปฐม ข้าวหลามจึงเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐม เมื่อพูดถึงจังหวัดนครปฐม ประชาชนส่วนใหญ่ หรือนักท่องเที่ยวจะต้องนึกถึง รสชาติอร่อย หวานมัน นุ่มนวลของข้าวหลามนครปฐม ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ข้าวหลามเป็นขนมหวานที่ทำรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะบริเวณชุมชนวัดพระงาม การทำข้าวหลามเป็นจำนวนมาก และนิยมตั้งชื่อร้านขายข้าวหลามตามชื่อคนทำ เช่น ข้าวหลามแม่ปิ่นข้าวหลามแม่ลูกจันทร์ ข้าวหลามแม่เล็ก รอดบางยาง ฯลฯ
วัฒนธรรมของชุมชนวัดพระงาม
ชุมชนวัดพระงามโดดเด่นในเรื่องของการทำอาชีพข้าวหลามซึ่งมีประวัติมายาวนาน จนเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านแห่งข้าวหลามของนครปฐมเลยก็ว่าได้ สำหรับประวัติข้าวหลามที่นครปฐมยังไม่ทราบความเป็นมาที่แน่ชัด และเมื่อสอบถามจากผู้สูงอายุในชุมชน ทราบว่าแหล่งกำเนิดของข้าวหลามนครปฐมขณะนั้นทั้งจังหวัดมีทำเพียงแห่งเดียว คือ บริเวณชุมชนบ้านพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ โดยบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากถิ่นอื่น ซึ่งมีอาชีพหลักคือ การทำนา ส่วนการทำข้าวหลามมีทำทุกครัวเรือนปีละครั้ง และไม่มีการทำในช่วงอื่น ต่อมาเมื่อมีผู้นำข้าวหลามมาประกอบเป็นอาชีพจึงมีการทำขายตลอดปี นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณวัดพระงามและวัดไผ่ล้อมในอดีตมีไม้ไผ่มาก และผู้คนนิยมทำข้าวหลามสำหรับเป็นอาหารเดินทาง ทั้งอาหารและของทุกอย่างที่ใส่กระบอกและนำไปเผาไฟจะเรียกว่า "หลาม" เช่น ปลาหลาม ยาหลาม (สมุนไพรที่เผาในกระบอกให้ สุก) ดังนั้นข้าวเหนียวผสมกะทิในกระบอกจึงเรียกว่า "ข้าวหลาม"
ข้าวหลามนครปฐมเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างมากของคนทั่วไปและ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานครปฐม เพื่อซื้อกลับบ้านในช่วงภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการทำข้าวหลามจากแม่-ทรัพย์ ทำให้ข้าวหลามแม่ทรัพย์ขายได้มากกว่าผู้ขายรายอื่นๆ ในยุคนั้น เช่นแม่จิตต์ แม่หนู อาจเรียกว่าเป็นยุคกลางของข้าวหลามที่มีอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ยุคนี้เป็นยุคทองของข้าวหลามนครปฐม จากความมีชื่อเสียงและความนิยมของผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาเป็นข้าวหลามหลายแบบ คือ ข้าวหลามธรรมดา ข้าวหลามสังขยา ข้าวหลามบ๊ะจ่าง และ ข้าวหลามข้าวจ้าว
ส่วนการทำข้าวหลามของคนปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปนั้นได้ทำตามแบบที่บรรพบุรุษเคยทำและยังสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดนครปฐมก็คือ แม่(สำ)รวย แม่(อา)รมณ์ แม่แหวง(แสวง)
ยุคสมัยของข้าวหลามนครปฐมแบ่งได้ เป็น 4 ยุค ดังนี้
1.ยุคแรกเริ่ม ยุคแรกเริ่มของข้าวหลามไม่ปรากฏแน่ชัดแต่เชื่อว่าแม่ทรัพย์เป็นผู้บุกเบิกเป็นเจ้าแรก และเริ่มขายกันเป็นล่ำเป็นสันที่หน้าสถานีรถไฟนครปฐม เนื่องจากเมืองนครปฐมตั้งอยู่ในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคใต้ จึงมีผู้สัญจรผ่านไปมามากมาย และผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ต่างมุ่งสู่นครปฐมเพื่อโดยสารรถไฟไปจังหวัดอื่น ทำให้ข้าวหลามเป็นหนึ่งในอาหารที่มีการนำมาขายให้กับคนที่รอโดยสารรถไฟ ในสมัยนั้นข้าวหลามที่เร่ขายที่สถานีรถไฟระยะแรกมี 3 เจ้าด้วยกัน คือ แม่ทรัพย์ ยายหมา และยายเพา ซึ่งเป็นเครือญาติกัน ต่อมา ยายหมากับยายเพาเลิกกิจการไป แม่ทรัพย์จึงเป็นเจ้าเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิก "ตลาดข้าวหลาม" โดยขายอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟราวสิบปี กระทั่งในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์มีโรงภาพยนตร์และโรงลิเกตาเซี๊ยะ ตาเฮงเกิดขึ้น แม่ทรัพย์และลูกๆจึงย้ายไปขายที่นั่น จากนั้นเริ่มมีคนมาขอช่วยแม่ทรัพย์ทำข้าวหลามแล้วศึกษาวิธีการและสูตรจากแม่ทรัพย์ไปประกอบอาชีพทำข้าวหลามกันมากขึ้นต่อมา ทางวัดพระปฐมเจดีย์จะล้อมกำแพงแก้ว โรงหนังและโรงลิเกต้องย้ายออกไปแม่ทรัพย์กับลูกๆ จึงย้ายไปขายที่โคนต้นมะขาม ซอยกลางหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ที่มีเพิงให้ขายของอยู่แล้ว ซึ่งช่วงนี้มีผู้ทำข้าวหลามเกิดขึ้นมากมาย
2. ยุคข้าวหลามเสวยยุครุ่งเรืองของข้าวหลามนครปฐม คือ ยุคที่เรียกว่า"ยุคข้าวหลามเสวย" ซึ่งเกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น คือนายพล วงศาโรจน์ และนายสว่าง แก้ววิจิต นายกเทศมนตรี ขอให้แม่ทรัพย์จากชุมชนพระงาม ผู้มีฝีมือการทำอาหารและข้าวหลามได้อร่อยมาก มาสาธิตการทำข้าวหลามถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ให้ทอดพระเนตรในคราวที่เสด็จฯ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมพร้อมด้วยพระราชอาคันตุกะเมื่อปี พ.ศ. 2503 ทำให้ชื่อเสียงของข้าวหลามนครปฐมได้แพร่หลายออกไปมากขึ้นและกลายเป็นที่มาของคำว่า "ข้าวหลามเสวย"
3. ยุคซบเซา ภายหลังเมื่อมีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้น ผู้ผลิตจึงได้เร่งเพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้ข้าวหลามสุกไม่ทั่วถึง ประกอบกับการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง พบว่า มีการนำข้าวหลามเหลือจำหน่ายซึ่งบูดไปจำหน่ายต่อ ทำให้การจำหน่ายข้าวหลามนครปฐมเริ่มประสบปัญหา เมื่อผนวกกับการขาดสถานที่จำหน่ายที่เป็นหลักแหล่งประจำ ต่อมามีการตัดถนนพระรามที่ 2 กรุงเทพ - สมุทรสงคราม ทำให้รถที่เคยวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคใต้ไม่ผ่านตัวเมืองนครปฐมและขาดจุดจำหน่ายสินค้าประจำจังหวัด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้อาชีพการทำข้าวหลามซบเซาลง จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของนักศึกษา
จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของนักศึกษา พบว่า ความซบเซาของอาชีพข้าวหลามยังมีสาเหตุอีกประการหนึ่งจาก ผู้ผลิตที่ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยังคงทำตามแบบเดิมที่ทำกันมา ทำให้ข้าวหลามจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคจำนวนน้อย ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้หลักจากการผลิตข้าวหลาม เพื่อจำหน่ายในจังหวัดนครปฐมประมาณ 20 ราย และเฉพาะที่ชุมชนพระงามมีผู้ผลิตเพียง 9 ราย ทั้งที่ในอดีตชุมชนพระงามมีคนทำข้าวหลามกว่าร้อยหลังคาเรือน
4. ยุคฟื้นฟูเพื่อเข้าสู่สินค้า OTOP ในการทำข้าวหลามนครปฐมในยุคฟื้นฟูเพื่อเข้าสู่สินค้า OTOP นั้น ใช่ว่าจะเพียงแค่กรอกข้าวเหนียวผสมกะทิลงกระบอกแล้วเอาไปเผาเท่านั้น แต่ต้องใช้ภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาจนทำให้ข้าวหลามนครปฐมเป็นที่ขึ้นชื่อนั้นอย่างพิถีพิถันในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเตรียมวัตถุดิบไปจนกระทั่งเผาออกมาเป็นข้าวหลาม และจากผลการดำเนินงานพัฒนาข้าวหลามจังหวัดนครปฐม ให้ดีมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปตามเกณฑ์การพัฒนาการผลิตข้าวหลามนครปฐมให้ได้มาตรฐานอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที โดยอ้างอิงจากเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่าข้าวหลามนครปฐมที่มีอย. เป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวของประเทศไทย ณ ปัจจุบันหลังจากที่ข้าวหลามได้ อย. แล้ว ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครปฐมก็เข้ามาช่วยในการนำเข้าสู่การคัดสรรตามมาตรฐานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อที่จะยกระดับข้าวหลามให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศต่อไปและสำหรับในปี พ.ศ. 2547 จากโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion) โดยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหารข้าวหลามนครปฐม แม่แอ๊ด ตันเสียงสม ก็ได้รับรางวัลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับสามดาว ซึ่งถือเป็นข้าวหลามเจ้าแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลประเภทนี้ นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมยังมีโครงการต่อเนื่อง โดยร่วมกับชมรมข้าวหลามนครปฐม ในการพัฒนาสูตรการผลิตข้าวหลามที่หลากหลาย และบรรจุภัณฑ์ข้าวหลามให้เหมาะสมกับยุคสมัย รวมถึงพัฒนาสถานที่ผลิตที่ยังไม่ใด้มาตรฐานให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ ส่วนรายที่ได้มาตรฐานแล้วก็ยังคงรักษาคุณภาพต่อไป เพื่อให้ข้าวหลามนครปฐมมีคุณภาพเป็นที่หนึ่งของประเทศภายในปี พ.ศ. 2550 ตามที่ตั้งไว้
ศูนย์กลางชุมชน
ศูนย์กลางของชุมชนคือ วัดพระงาม เนื่องจากอยู่ใกล้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการทำข้าวหลาม โดยมีพระครูปภัทรธรรมมาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระงามเป็นจุดรวมใจ ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งชมรมข้าวหลามพระงาม เพื่อให้ชาวบ้านมีการรวมตัวกัน ช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพ ตลอดทั้งเป็นการอนุรักษ์ให้อาชีพนี้ดำรงอยู่คู่จังหวัดนครปฐมต่อไป นอกจากนั้นชาวบ้านแถวนี้มักจะใช้สถานที่ของวัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ข้าวหลามเป็นของว่างที่มีชื่อเสียงของชุมชนพระงามจังหวัดนครปฐม เป็นอาหารว่างที่มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมอาหาร โดยการใช้ข้าวเหนียวนึ่งกับกะทิใส่ในกระบอกไม้ไผ่ เกิดเป็นรสชาติหอมหวานทำให้ข้าวหลามพระงามเป็นของฝากเลื่องชื่อของนครปฐม ทางร้านมีข้าวหลามในชุมชนวัดพระงามให้เลือกทั้งหมด 7 ไส้นั้น คือ ข้าวเหนียวดำ, ข้าวเหนียวขาว, สังขยาข้าวเหนียวดำ, สังขยาข้าวเหนียวขาว, ข้าวหลามชาเขียวใบเตย, ข้าวหลามอัญชัน และที่ลูกค้าชื่นชอบมากที่สุด คือข้าวหลามบ๊ะจ่าง ที่รวมเอาวัตถุดิบชั้นดีมาทำ ทั้งเนื้อหมูไม่ติดมัน ไข่แดงของไข่เค็ม กุ้งแห้ง เห็ดหอม ถั่วลิสง กระเทียม พริกไทย ผัดเข้ากันอย่างพอดี ทำให้มีรสชาติกลมกล่อม ผสมผสานกับกลิ่นหอมของไม้ไผ่ที่เอาไปเผากับบ๊ะจ่างอย่างลงตัว
ข้าวหลามกับบทบาทเศรษฐกิจต่อชุมชนวัดพระงาม
ข้าวหลามเป็นสินค้าเศรษฐกิจทำให้มีส่วนทำให้ชาวบ้านในระแวกชุมชนวัดพระงามมีรายได้ตลอดทั้งปี ในอดีตราคาข้าวหลามกระบอกละ 5 – 10 บาทเท่านั้น ในปัจจุบันราคาวัตถุดิบ อุปกรณ์การในการทำข้าวหลามสูงขึ้นร้านจึงต้องปรับราคาขึ้นตาม ข้าวหลามทุกไส้ราคาเริ่มต้นที่กระบอกละ 40 บาท หรือ 3 กระบอก 100 บาท แต่บางร้านได้มีการเพิ่มชนิดของข้าวหลาม เช่น บ๊ะจ่าง ไส้สังขยา ข้าวหลามอัญชัน เพื่อเพิ่มมูลค่า ราคาเริ่มต้น 80 - 120 บาท แล้วแต่ขนาด ราคานี้ยังทำให้เจ้าของร้านข้าวหลามยังขายได้เพราะ มีการปรับราคาขึ้นลงตามราคาของวัตถุดิบที่มีราคาขึ้นลงไม่แน่นอน
ขั้นตอนการทำข้าวหลาม
วิธีการทำข้าวหลามให้อร่อย ต้องเลือกไม้ไผ่ที่สะอาดขนาดพอดี เมื่อเผาแล้วกลิ่นของไม้ไผ่จะติดกับเนื้อข้าวเหนียวส่วนวัตถุดิบที่ใช้ต้องสดใหม่สะอาดไม่ค้างคืนจะช่วยให้รสชาติของข้าวหลามอร่อยขึ้น ก่อนนำมาผสมใส่กระบอกไม้ไผ่แช่ข้าวเหนียวล้างน้ำ และนำไส้ที่ต้องการมาคลุกใส่กะทิสด น้ำตาล เกลือ คนให้เข้ากันนำถั่วที่แช่ไว้ (ควรนำถั่วดำไปแช่น้ำก่อน 2 ชั่วโมง) มาคลุกกับข้าวเหนียวที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วนำมากรอกลงกระบอกขึ้นเผาบนเตาที่จุดไฟรอไว้แล้ว
การเลือกใช้ วัตถุดิบ และ ไม้ไผ่
ไม้ไผ่จะเป็นพันธุ์ศรีสุข หรือ ไผ่ ตรง เพราะไผ่พันธุ์นี้มีเยื่ออยู่ภายใน เวลาผ่าออกมาจะห่ออยู่ในรูปร่างของกระบอกไม้ไผ่ ไม้ไผ่ที่ใช้ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดกาญจนบุรี
ข้าวเหนียวจะใช้เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู เพราะว่าข้าวเหนียวชนิดนี้เวลาเย็นตัวลงจะนิ่มไม่แข็ง เรียงเม็ดสวย นุ่มเหนียวติดกันแต่ไม่เละ มีความเลื่อมมันค่อนข้างมาก ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นของจังหวัดเชียงราย
มะพร้าวแก่เพราะถ้าใช้มะพร้าวอ่อนความมันในตัวกะทิจะน้อยลง อาจทำให้ข้าวหลามไม่อร่อยได้
ต้นตำรับความอร่อยสูตรข้าวหลามนครปฐมที่ขายดี จนกลายเป็นคำขวัญประจำจังหวัด เพราะข้าวหลามที่นี่แตกต่างจากที่อื่น จะสังเกตได้จากข้าวหลามนครปฐมจะมีจุกฝาใบตองแห้งปิดกระบอกเอาไว้เพื่อให้เกิดความหอมขณะเผา และเพื่อแก้ปัญหาแมลงเข้าไปหลบภายในกระบอก จึงปิดจุกทันทีที่กรอกข้าวหลาม อีกทั้งยังใส่กะทิมากกว่าปกติจึงทำให้มีความหวานมันกลมกล่อมกำลังดี
แนวโน้มการสืบทอด
ในเรื่องของแนวโน้มการถ่ายทอดธุรกิจข้าวหลามนครปฐมนั้นจะเห็นได้ว่ามีชาวบ้านที่ผลิตข้าวหลามหลายครอบครัว ดังจะได้ยินชื่อของข้าวหลามมากมาย เช่น ข้าวหลามแม่ลูกจันทร์ ข้าวหลามแม่เล็ก ข้าวหลามแม่ทรัพย์ ซึ่งบางครอบครัวได้เลิกทำไปแล้วเนื่องจากขาดผู้สืบทอดในบางครอบครัวภายหลังรุ่นลูกรุ่นหลานเรียนสูง เมื่อจบก็มีหน้าที่การงานทำเป็นหลักแหล่ง จึงไม่สนใจประกอบธุรกิจของครอบครัว ผู้ประกอบการบางท่านจึงไปสอนนักเรียนเพื่อการถ่ายทอด และสามารถสืบทอดภูมิปัญญาข้าวหลามนครปฐมสู่เยาวชนรุ่นหลัง เป็นการต่อยอดไม่ให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมต้องสูญหายไป
ผู้ให้สัมภาษณ์
เจ้าของร้าน ข้าวหลามนายไผ่
ชุมชนพระงาม2 (รุ่นที่2)
เจ้าของร้าน ข้าวหลามแม่เล็ก
องค์พระปฐมเจดีย์ (รุ่นที่4)
บรรณานุกรม
กิตติชัย ประดับแก้ว. (2566 ตุลาคม 21). เจ้าของร้านข้าวหลามยายไผ่(รุ่นที่3) องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.
กรรณิกา กุลณี. (2566 ตุลาคม 21). เจ้าของร้านข้าวหลามรุ่งอารี(รุ่นที่2) องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.
วิมลสิริ รุจิภาสพรพงศ์. (2550) การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน : กรณีศึกษาการทำข้าวหลามในชุมชนพระงาม. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จังหวัดนครปฐม. มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นจาก
https://sure.su.ac.th/.