ความศรัทธา
หลวงพ่อเงิน

ความเป็นมาและความสำคัญ

หลวงพ่อเงิน จนฺท สุวณฺโณ หรือพระราชธรรมาภรณ์ (พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2520) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
หลวงพ่อเงินเป็นคนพื้นที่ดอนยายหอมโดยกำเนิด โดยเกิดเมื่อวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ. 2433 ท่านอุปสมบท ณ วัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอมในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 18 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2453 ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ ภายหลังการอุปสมบทได้จำพรรษา ณ วัดดอนยายหอม ท่านเป็นผู้ที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างมาก หลวงพ่อเงินเป็นพระสงฆ์นักพัฒนาที่นำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นอย่างมาก ท่านเปรียบเสมือนผู้นำและศูนย์รวมทางจิตใจและจิตวิญญาณของชาวดอน-ยายหอม รวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียงตั้งแต่ในอดีตสืบมาถึงปัจจุบัน โดยได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม” นับเป็นพระสงฆ์ที่พัฒนาความเจริญมาให้แก่พื้นที่ดอนยายหอมเป็นอย่างมาก โดยท่านได้ริเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุ และบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดดอนยายหอม เช่น การสร้างพระอุโบสถ ใน พ.ศ. 2480 หลวงพ่อเงินได้ให้ชาวบ้านนำอิฐที่แตกหักจากบริเวณโบราณสถานเนินพระ มาทำฐานรากของพระอุโบสถ รวมทั้งการสนับสนุนทางการศึกษาที่ทำให้ชาวบ้านมีสถานศึกษาเล่าเรียนภายในพื้นที่ดอนยายหอมนี้ เช่น โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย 2 หลวงพ่อเงินอนุสรณ์ และโรงเรียนวัดดอนยายหอม (หลวงพ่อเงินอุปถัมภ์) ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2504 หลวงพ่อเงิน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในนาม “พระราชธรรมาภรณ์”ต่อมาหลวงพ่อเงินได้มรณภาพในวันที่ 13 เดือนมกราคม พ.ศ. 2520 รวมสิริอายุ 86 ปี 66 พรรษา แม้จะมรณภาพไปนานแล้วแต่ความเคารพศรัทธาของชาวบ้านดอนยายหอมทุกช่วงวัยต่อท่านยังคงมีอยู่จวบจนปัจจุบัน ในปัจจุบันทางวัดดอนยายหอมมีการจัดงานรำลึกถึงหลวงพ่อเงิน ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี
เรื่องราวของหลวงพ่อเงิน (พระราชธรรมาภรณ์) ในการรับรู้ของชาวบ้านดอนยายหอมมีความชัดเจนอย่างมากทั้งในประวัติ การพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น ศาสนา การศึกษา การคมนาคม และหลักคำสั่งสอนของท่าน เรื่องราวของหลวงพ่อเงินจะถูกบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นของทุกครัวเรือนภายในพื้นที่ดอนยาย-หอมก็ว่าได้ ชาวบ้านยกย่องว่าท่านเปรีบเหมือน “เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม” เป็นผู้นำและศูนย์รวมทางจิตใจและจิตวิญญาณของชาวดอนยายหอมและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ความเคารพศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อเงินยังคงมีอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับตอนที่ท่านยังดำรงชีพ ในปัจจุบันทางวัดดอนยายหอมมีการจัดงานรำลึกถึงหลวงพ่อเงิน ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี และมีชาวดอน-ยายหอมและประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ไปรวมงานเป็นจำนวนมากทุกปี สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนถึงความศรัทธาและคุณงามความดีของหลวงพ่อเงินได้เป็นอย่างดี
จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน ได้เล่าถึงหลวงพ่อเงินไว้ว่า " หลงพ่อเงินเดิม มีพ่อ ชื่อพ่อพรม ร่วมพูน มีลูกทั้งหมด 4 คน แม่เขาฝันว่ามีพญานาคมาขออาศัยอยู่ ในวันที่หลวงพ่อเงินจะเกิด แม่เล่าให้พ่อของหลวงพ่อเงินฟังว่าไม่มีอะไร ลูกมีบุญจะมาเกิด ปี 2480 คนดอนยายหอมศรัทธาหลวงพ่อมาก หลวงพ่อพัฒนาหมู่บ้านเราทุกเรื่อง ตอนนั้นหลวงพ่อเงินคิดจะสร้างโบสถ์ ไปขุดตรงที่โบราณสถานเนินพระจะเอาอิฐ เก่าๆที่มันหักๆ เอามาทำฐานโบสถ์ เสร็จแล้วก็ขุดไปขุดมาไปเจอเสมาธรรมจักร กับกวางหมอบเลยแจ้งกรมศิลปากรเข้ามาดู ถึงได้รู้กันว่านี่โบราณสถานเนินพระ ที่มีอายุกว่า 1,000 กว่าปี"
จากการสัมภาษณ์นักวิชาการ ได้ให้ข้อมูลของหลวงพ่อเงินไว้ว่า "ตัวหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมท่านมิได้มีคุณูปการต่อวงการคณะสงฆ์ หรือแค่วงการการศึกษาเท่านั้น แต่ว่าหลวงพ่อเงินเอง ถ้าพูดถึงคุณูปการต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ท่านเป็นเหมือนเทพเจ้าของเมืองดอนยายหอมด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ท่านให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา ทางด้านโรงพยาบาล แล้วก็เป็นผู้นำทางด้านจิตใจของผู้คนในพื้นที่ หน่วยราชการเขตพื้นที่ดอน-ยายหอมต้องยอมรับว่าพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีศักยภาพทางด้านการศึกษา ทางด้านสาธารณสุข ก็เพราะหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมแห่งนี้นี่เอง"

คุณค่าความศรัทธา หลวงพ่อเงิน

ศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจเป็นประทีปส่องวิถีชีวิตของมวลมนุษย์ ด้วยมนุษย์ทุกภาษาส่วนใหญ่เป็นคนมีศาสนา การที่คนในชาติมีความสามัคคี สามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นชาติเป็นประเทศไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ
ความศรัทธาในหลวงพ่อเงิน (พระราชธรรมาภรณ์) วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ของคนในชุมชนดอนยายหอมและพื้นที่ใกล้เคียงนั้น มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับ 100 ปี ความศรัทธาเกิดจากการที่หลวงพ่อเป็นผู้นำทางด้านจิตใจ เป็นผู้ที่ปฏิบัติดีในกิจวัตรพื้นฐานของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และร่วมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน รวมทั้งให้คำสอนในการดำเนินชีวิตกับคนในชุมชน ผู้คนดอนยายหอมต่างกล่าวว่าหลวงพ่อคือ เทพเจ้าของดอนยายหอม คุณค่าของความศรัทธาก่อเกิดสิ่งดีงามกับผู้คนในชุมชน ดังนี้

คุณค่าด้านกาย

ความศรัทธาหลวงพ่อเงินทำให้คนในชุมชนประพฤตินอบน้อมทางกาย เช่น การกราบไหว้ เดินนอบน้อมขณะเดินผ่าน การบูชาคือการแสดงออกถึงความเคารพต่อรูป สัญลักษณ์ตัวแทนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการยกย่อง เทิดทูนด้วยความนับถือ หรือเลื่อมใสในความรู้ ความสามารถดั่งเป็นวีรบุรุษ บูชาบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์ จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน ความศรัทธาในหลวงพ่อที่เคยปล่อยเวลาว่างจากการทำนา สูบยาสูบ ก็มาช่วยงานหลวงพ่ออุทิศแรงกายสร้างศาลา สร้างโรงเรียน ช่วยงานหลวงพ่อ ทำประโยชน์ในกับชุมชน ไม่มีเวลาสูบยาเลย ร่างกายก็แข็ง-แรงขึ้น อีกท่านหนึ่งก็บอกกล่าวว่า สมัยก่อนมีงานวัด ปู่ก็จะมานั่งเล่นดนตรี ตีกลองรำมะนา มีสาวๆ ตอนนี้ก็เป็นยายกันแล้ว มารำ ช่วยงานวัดในพิธี-สมโภชน์ต่างๆ มาเกือบทุกอาทิตย์ที่วัดมีงานตลอด พออยู่ในวัดก็กินเหล้า ไม่ได้ ก็ไม่เมา ร่างกายก็แข็งแรง

คุณค่าด้านจิตใจ

งานนมัสการ หรือพิธีกรรมการบูชาหลวงพ่อเงิน นั้นเป็นการสร้างการตอบ-สนองความสุขด้านจิตใจทั้งในด้านของผู้คน ครอบครัวไปจนถึงสังคมในจังหวัด เมื่อผู้คนมีความศรัทธาเกี่ยวกับอานิสงส์ของการได้มานมัสการ มาขอพร มาบนบานกล่าวขอสิ่งต่างๆ และเมื่อได้มีโอกาสมาทำบุญไว้เป็นทานก็ย่อมเกิดปีติ สุขอิ่มเอมใจ มีความรู้สึกรักและผูกพันกับพระพุทธศาสนา รู้สึกว่าบาปและอกุศลทั้งมวลลดน้อยถอยลง เพราะเกิดความสบายใจ ได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเพราะเชื่อว่าธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีเป็นที่สมควรแก่การยึดถือเพื่อความผาสุกในชีวิตนอกจากนี้วัดหลวงพ่อเงินยังเป็นพุทธานุสติมีลักษณะที่เตือนสติของผู้พบเห็นสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดแก่จิตใจ เกิดการผักผ่อนหย่อนใจจากหน้าที่งานการประจำ รู้สึกสุข สงบ มีสติ เบิกบานทางใจ ผู้ที่ตั้งตนอยู่ในวิถีทางแห่งชาวพุทธที่ดีในหลักการของพระพุทธศาสนาที่สอดแทรกอยู่ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนานั้น ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของทาน เพราะเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่ายไม่มีบังคับและทำได้ทุกคน ทั้งทานทรัพย์สินเงินทอง ทานอาหารการกิน ทานแรงกายแรงใจ เมื่อให้เกิดความสุขทางใจขึ้น ทำให้มีความโน้มเอียงไปในทางที่ดี ชักนำจิตใจให้รักษาศีลและปฏิบัติธรรมภาวนาต่อไปได้ และจากการสัมภาษณ์คนในชุมชน กล่าวว่า ทุกวันนี้เอาหลักธรรมหลวงพ่อมาใช้ “ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง” “รู้จักพอก่อสุข ทุกสถาน” ทำงานเล็กน้อยก็ทำ ไม่งอมืองอเท้า เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่พอกับรายจ่ายเลย ของแพงขึ้นทุกวัน ก็ต้องรู้จักใช้ ขยันมากขึ้น และจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเล่าว่า “ความจริงนั้น คนบาป คนชั่วกลัวหลวงพ่อ เพราะเขารู้ว่าหลวงพ่อเป็นพระบริสุทธิ์ ปากศักดิ์สิทธิ์ เขากลัวหนักหนาคือว่า กลัวหลวงพ่อสาปแช่ง ทั้งๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยแช่งใคร ยิ่งเขารู้ว่าไม่เคยแช่งใคร เขาก็ยิ่งกลัวว่า ถ้าหลวงพ่อแช่ง เขาเจ๊งแน่ ๆ เรื่องนี้มีอยู่ว่า มีคนๆ หนึ่ง เป็นคนเกเรมากมีคนบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พูดปรารภว่าเขาเป็นคนบาปหนา ห้ามเขาไม่เชื่อหรอก ไม่ช้าเขาก็ติดคุก อยู่ต่อมาไม่นาน นายคนนั้นไปคบเพื่อนโจร เอาคนมาปล้นบ้านชาวบ้าน ถูกตำรวจจับไปติดคุก คนก็รู้กันทั่วไป เป็นเรื่องแรกว่า หลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์นัก” หรือ “เถ้าแก่เสียง เจ้าของโรงสี ได้ออกหวยจับยี่กีขึ้น มีคนแทงหวยกันมาก รู้ถึงหูหลวงพ่อก็เดินไปเยี่ยมเถ้าแก่ถึงโรงสี คนที่มีปัญญาหากิน และขยันอย่างเถ้าแก่เสียง ไม่มีวันจนแน่นับวันมีแต่จะมั่งคั่งร่ำรวย คนบ้านนี้เขารักใคร่นับถือเถ้าแก่เพราะเป็นคนดีมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เขาลือกันหนาหูว่า เถ้าแก่ออกหวยจับยี่กี ฉันไม่เชื่อหรอก คนรวย ๆ อย่างเถ้าแก่ จะมาตั้งบ่อนออกหวยจับยี่กี จะคิดสั้นอย่างนั้นเชียวหรือ เพราะถ้าคนบ้านนี้เล่นหวยกัน เขาก็ต้องพากันยากจน ก็จะกลายเป็นคนลักขโมยปล้นสะดม เถ้าแก่ก็จะถูกปล้น แล้วหลวงพ่อก็เทศน์ว่า "ถ้าเถ้าแก่คิดจะตั้งบ่อนจริง ๆ ฉันก็ขอร้องว่าเลิกเสียเถอะ ถ้าเถ้าแก่ไม่ยากจนหมดทางหากินอย่างอื่นแล้ว ฉันก็จะไม่ขอร้องให้เลิกเลย เถ้าแก่เสียงได้ยินดังยั้นก็ยกเลิกการตั้งบ่อนหวยจับยี่กี่”

คุณค่าด้านกาย

งานประจำปีนมัสการหลวงพ่อเงิน เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนดอนยายหอม อันเกิดจากความศรัทธาในหลวงเงิน ที่หลอมรวมคนในท้องถิ่นให้เคารพนับถือสักการะ บริจาคเงินทองเป็นกองทุนสร้างสิ่งต่าง ๆ เป็นกฐิน ผ้าป่า ทุนการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ นักเรียน และโรงทานข้าว น้ำ ปลา และอาหารหวานคาว และทำให้สังคมมีความรู้สึกถึงความเป็น พวกพ้องเป็นหมู่เหล่าและร่วมกันรักษาพื้นที่ธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นมรดกของคนในสังคมให้ยาวนานที่สุดเป็นขบวนการของประชาสังคมเชิงพุทธที่มีส่วนดีมากกว่าส่วนเสียซึ่งก่อให้เกิดผลดีทางด้านสังคม เป็นพุทธจริยธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ วัดหลวงพ่อเงิน เป็นอีกจุดหนึ่งในโปรแกรมการท่อง-เที่ยวเชิงพุทธ ในจังหวัดนครปฐม ส่งผลให้ประชาชนหลายกลุ่มได้รับผลประโยชน์ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ในหลายอาชีพได้กำไรจากการขายดอกไม้ ธูป เทียน อาหาร เครื่องดื่มให้กับนักท่องเที่ยวเข้าไปยังวัดกลาง รวมทั้งอาชีพอื่น ๆ ด้านเศรษฐกิจนั้นสิ่งที่ส่งผลเห็นได้ชัดคือการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดความรักความสามัคคีในชุมชนสงบสุขการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขทำให้เกิดความสะดวกในการปกครองขึ้นด้วยสังคม

คุณค่าด้านวัฒนธรรม

พิธีกรรมบูชาหลวงพ่อเงิน เป็นพระพุทธรูปที่ชาวพุทธในจังหวัดนครปฐมได้ให้ความเคารพสักการบูชาอย่างสูง หลวงพ่อเงิน ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมายาวนาน ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ประชาชนดอนยายหอมจะมีการจัดงานนมัสการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชาและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ ระดับจังหวัดที่ประชาชนเข้าร่วมงานทั่วทุกสารทิศ กิจกรรมงานประจำปี เพื่อที่จะเป็นกิจกรรมการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และเป็นพุทธจริยธรรมในการสร้างสังคมให้เกิดความสันติสุขน่าอยู่