แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มกองกำลังหงี่หั่วท้วงก็พ่ายแพ้ต่อแมนจู โดยผู้นำทั้ง 9 คน ถูกจับไปประหารชีวิต ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงร่วมกันถือศีลกินผักในเดือน 9 เป็นระยะเวลา 9 วัน เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของกลุ่มหงี่หั่วท้วงในอดีต
ส่วนเทศกาลกินเจในประเทศไทย เป็นรูปแบบความเชื่อ และประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันในกลุ่มคนเชื้อสายจีน โดยรับเอาแนวคิดจากบรรพบุรุษชาวจีน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผสมกลืนกลายกับรูปแบบความเชื่อท้องถิ่น จนกลายเป็นประเพณีเฉพาะของลูกหลานชาวจีนในภูมิภาคนี้
เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจ ไทยมักจะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อสืบสานประเพณี ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมงาน สำหรับงานกินเจที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จัก ได้แก่ งานกินเจที่ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ และงานกินเจ จ.ภูเก็ต
ส่วนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อว่าการกินเจ คือการสักการะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์ 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ ซึ่งชาวจีนจะเรียกเทศกาลนี้ว่า "เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9"
คำว่า "เจ" (齋) หรือ "ไจ" (ภาษาจีนกลาง) ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า "อุโบสถ" เปรียบเสมือนการถืออุโบสถศีล ไม่กินเนื้อสัตว์ ดำรงอยู่ในศีลธรรม ทำให้ความหมายของคำว่า "เจ" สื่อถึง การรักษาความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ เพื่อเป็นการสักการะบูชาองค์เทพที่นับถือ
ส่วนป้ายคำว่า "เจ" ทั้งภาษาไทยและจีน ที่เรามักเห็นในประดับตามห้างร้านต่างๆ ในช่วงเทศกาลกินเจ เป็นการสื่อว่า "ไม่มีของคาว" (ไม่มีเนื้อสัตว์) โดยตัวอักษรสีแดง เป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคล ส่วนพื้นหลังสีเหลือง เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนานั่นเอง