การเพาะเลี้ยงกุ้ง

ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม

คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดอนยายหอม, 2566 ) กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่ชุมชนดอนยายหอมมีวิถีดั้งเดิมคือการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การทำไร่และการทำนา ซึ่งจะทำได้ปีละครั้งเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมีเลี้ยงสัตว์บ้าง เนื่องจากพื้นที่ของตำบลดอนยายหอมเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำการการเกษตร ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ต่อมาใน พ.ศ. 2540 ชุมชนดอนยายหอมได้รับ ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งของดอนยายหอมจึงเปลี่ยนมาทำการประมง คือ การเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งรายได้ดีและได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่มากนัก
ทั้งนี้ คุณลุงประยงค์ หอมศรีประเสริฐ ( อดีตรองประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดอนยายหอม, 2566 ) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมทีตนเองมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ คือ เลี้ยงหมูและไก่ ต่อมา รายได้ลดน้อยและได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์สัตว์ปีก (Fowl cholera) ซึ่งจะมาในฤดูร้อน ทำให้สัตว์ป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนอาชีพมาทำการประมงแทน ใน พ.ศ. 2527 คุณลุงประยงค์หันมาสนใจการเลี้ยงกุ้ง เพราะ รายได้ดี และเล่าว่าเดิมทีชาวบ้านในชุมชนดอนยายหอมก็เคยเลี้ยงกุ้งกันมาก่อนอยู่แล้วแต่ทำเป็นส่วนน้อย โดยชุมชน ดอนยายหอมเริ่มเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และให้ผู้ที่เคยเลี้ยงกุ้งที่มีประสบการณ์อยู่แล้วมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในการเลี้ยงกุ้ง โดยช่วยเผยแพร่และแนะนำวิธีการเลี้ยงกุ้งให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ต่อมา ใน พ.ศ. 2545 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งขนาดเล็กขึ้น ผู้ก่อตั้งกลุ่มคือ คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง และนำเทคนิคหรือวิธีการมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง ชุมชนดอนยายหอมมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบครอบครัว คือ การช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ให้ซึ่งกันและกัน ในระยะแรกเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอย่างเดียวเป็น รูปแบบเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เชิงพาณิชย์ คือ นำกุ้งไปขายอย่างเดียว ต่อมาได้มีการทดลองและพัฒนาการประมง โดยมีการเลี้ยงกุ้งขาวเพิ่มเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้มีรายได้เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จึงเป็นการเลี้ยงกุ้งขาวผสมกับกุ้งก้ามกราม ต่อมาใน พ.ศ. 2547 คุณลุงธนูได้ก่อตั้ง “ชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดอนยายหอม” ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานประมงจังหวัดนครปฐม ที่เข้ามาส่งเสริมและแนะนำการเลี้ยงกุ้งให้กับชุมชนดอนยายหอม ปัจจุบันชุมชนดอนยายหอมมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งทั้งหมด 74 ฟาร์ม อ้างอิงจากการจดบันทึกการเข้าประชุมชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดอนยายหอมจาก คุณป้าณัฐวลัย สำราญสุข ( ตำแหน่งเหรัญญิก, 2566 )
คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ในอดีตคุณลุงธนูเคยทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดกรุงเทพฯ มาก่อน แต่พอได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชีย ดังนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจแย่ลงอาชีพรับเหมาของคุณลุงจึงไปไม่รอด สถานที่แหล่งกู้เงินและหลาย ๆ ธุรกิจก็ล้มละลาย ชาวบ้านในชุมชนดอนยายหอมจึงได้หันมาทำการประมงคือ การซื้อที่ดินเพื่อเลี้ยงกุ้งแทน ส่วนตัวของคุณลุงธนูแต่เดิมก็ได้มีที่ดินอยู่แล้วจึงหันมาเลี้ยงกุ้ง เพราะเห็นว่าได้รายได้เยอะและมีเครือญาติเลี้ยงอยู่แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2538 คุณลุงได้ซื้อที่ดินเก็บไว้ในราคา 120,000 ต่อ 1 ไร่ ที่ดินของคุณลุงที่ใช้เลี้ยงบ่อกุ้งมีทั้งหมด 20 ไร่ เมื่อคุณลุงได้หันมาเลี้ยงกุ้งและช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น จึงแก้ปัญหาเรื่องรายได้ที่ได้กำไรน้อยเปลี่ยนมาได้กำไรเยอะ เมื่อก่อนเครือญาติของคุณลุงเลี้ยงกุ้งแบบไม่ช่วยเหลือกันหรือไม่มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ให้กัน คุณลุงธนูจึงบอกกับครอบครัวของตนว่าถ้าจะเลี้ยงกุ้งแบบนี้ต้องรวมกลุ่มกัน เพราะทำให้มีโอกาสต่อรองกับพ่อค้าได้ และในระยะแรกนั้นชาวบ้านชุมชนดอนยายหอมจะขายกุ้งตายนำไปแช่น้ำแข็งและขายที่ห้องเย็น ต่อมาใน พ.ศ. 2545 ได้เปลี่ยนวิธีการขายมาขายกุ้งเป็นแทน หรือการขายกุ้งโดยใช้ออกซิเจนในการขายหน้าฟาร์ม พ่อค้าก็จะมีการขายส่งให้กับทางร้านอาหารหรือภัตตาคารแทน และเมื่อได้ตั้งกลุ่มทำให้ได้รับการซื้อขายกุ้งของที่ดอนยายหอมเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย พ่อค้าแต่ละจังหวัดหันมาซื้อขายกุ้งที่ชุมชนดอนยายหอมแทนเพราะเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากฟาร์มของชุมชนดอนยายหอมได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ หรือเรียกว่า จีเอพี (Good Agricultural Practice ; GAP) แต่เดิมแล้วชุมชนดอนยายหอมจะเลี้ยงแค่กุ้งก้ามกราม ต่อมาได้รับการพัฒนาโดยการเพิ่มกุ้งขาวเข้ามา แต่ก่อนที่คุณลุงธนูจะเพิ่มกุ้งขาวเข้ามา ได้มีการทดลองและศึกษาวิธีที่จะทำให้กุ้งขาวและกุ้งก้ามกรามอยู่ด้วยกันได้ เพราะ กุ้งก้ามกรามอยู่ในน้ำจืด ส่วนกุ้งขาวอยู่ในน้ำเค็ม จากการทดลองเลี้ยงกุ้งขาวผสมกับกุ้งก้ามกราม คุณลุงธนูพบว่า การเลี้ยงกุ้งขาวรวมกับกุ้งก้ามกรามจะต้องใช้เครื่องปั่นน้ำ เพื่อให้สภาพน้ำคงที่
วิธีการปรับสภาพน้ำเพื่อเตรียมเลี้ยงกุ้งขาวผสมกับกุ้งก้ามกรามนั้น คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ ( อดีตประธานชมรมและรองประธานชมรม, 2566 ) ให้คำอธิบายว่า มีการใช้น้ำทะเลหรือน้ำเค็ม 2% ผสมกับน้ำจืดให้เจือจาง เพื่อให้แร่ธาตุกับกุ้งขาว ในบางบ่อถ้าไม่มีน้ำเค็มก็จะใช้เกลือเม็ดเข้ามาช่วยหว่านเม็ดเกลือใส่บ่อน้ำจืด เพื่อปรับสภาพให้กุ้งขาวสามารถอยู่ในน้ำจืดได้ มีการใช้น้ำทะเลหรือน้ำเค็ม และเม็ดเกลือ เป็นระยะเวลา 1 วัน และการเลี้ยงกุ้งขาวเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ากุ้งขาวจะอยู่ชั้นบนของน้ำคล้ายกับปลา ไม่เหมือนกับกุ้งก้ามกรามที่จะอยู่ชั้นใต้น้ำหรือชั้นดินนั่นเอง

คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์

(อดีตประธานชมรม, 2566)

คุณลุงประยงค์ หอมศรีประเสริฐ

(อดีตรองประธานชมรม, 2566)

คุณป้าณัฐวลัย สำราญสุข

(ตำแหน่งเหรัญญิก, 2566)

คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ

(อดีตประธานชมรมและรองประธานชมรม, 2566)

พันธุ์กุ้งที่นิยมเลี้ยงในพื้นที่ดอนยายหอม

ชุมชนดอนยายหอม นิยมเลี้ยงกุ้งเฉพาะกุ้งก้ามกรามและกุ้งขาว เพราะกุ้งทั้ง 2 พันธุ์นี้สามารถเลี้ยงควบคู่กันได้ เป็นที่นิยมของตลาดและพ่อค้าแม่ค้า ทำให้ขายง่ายและได้ราคาดี ลักษณะของกุ้งก้ามกราม มีเปลือกสีเขียวอมสีฟ้าหรือม่วง ก้ามยาวมีสีครามหรือม่วงเข้ม ตลอดทั้งก้ามมีตะปุ่มตะป่ำ มีก้ามหรือขาเพื่อคีบอาหารและต่อสู้ กุ้งก้ามกรามตัวผู้จะมี มันกุ้งเยอะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ส่วนกุ้งก้ามกรามตัวเมียจะมีการออกไข่ในส่วนหัว และหลังจากนั้นมันจะใช้ก้ามคีบไข่ของมันมาไว้ที่ใต้ท้อง โดยปกติแล้วกุ้งก้ามกรามจะอาศัยอยู่ในน้ำจืดหรือตามแม่น้ำลำคลอง ทำให้ชุมชนดอนยายหอมมีการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามโดยใช้รูปแบบตามธรรมชาติ และต้องใช้เครื่องปั่นน้ำเข้ามาช่วย เพื่อจำลองให้ กุ้งก้ามกรามคิดว่าอยู่ในแม่น้ำ ลักษณะของกุ้งขาวมีลำตัวสีขาวใส ขามีสีขาว หางเป็นสีแดง โดยเฉพาะบริเวณปลายหางจะมีสีแดงเข้ม กรีจะมีแนวตรงปลายงุ้มลงเล็กน้อย กรี คือ ส่วนแหลมแข็งและมีคมที่หัวกุ้ง กุ้งขาวตัวเมียจะมีลำตัวใหญ่กว่ากุ้งตัวผู้ โดยปกติแล้วกุ้งขาวจะอาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ชุมชนดอนยายหอมจึงได้ศึกษาและทำการทดลองพบว่าลักษณะนิสัยของกุ้งขาวสามารถปรับตัวอยู่ในน้ำจืดได้ และใช้เครื่องปั่นน้ำเข้ามาช่วยเพื่อให้สภาพน้ำคงที่

กุ้งขาว

กุ้งก้ามกราม

การได้รับมาตรฐานการเลี้ยงกุ้งของชุมชนดอนยายหอม

การเพาะเลี้ยงกุ้งและการขายของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งดอนยายหอมนั้น ต้องขอทะเบียนฟาร์มจากกรมประมงและได้รับมาตรฐาน จีเอพี (Good Agricultural Practice ; GAP) จากสำนักงานประมงจังหวัดนครปฐมเพื่อได้รับมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย ต่อผู้บริโภค การตรวจสอบมาตรฐานจะขึ้นอยู่กับกรมประมงแต่ละจังหวัด คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ (อดีตประธานชมรมและรองประธานชมรม, 2566) ให้คำอธิบายว่า เมื่อชุมชนดอนยายหอม ทำบ่อกุ้งครบ 3 เดือน ทางสำนักงานประมงจังหวัดนครปฐมได้เข้ามา ตรวจสอบพื้นที่ และนำกุ้งไปตรวจสอบมีตัวชี้วัดโดยต้องไม่มีการเลี้ยงปศุสัตว์ที่บ่อกุ้ง บ่อกุ้งจะต้องสะอาดไม่มีการใช้สารเคมีหรือสารตกค้างต้องห้าม เช่น สารที่มีสิ่งตกค้างกับสัตว์ที่ก่อให้เกิดโรคสารมะเร็ง ห้ามมีห้องสุขาที่หน้าบ่อกุ้ง ถ้ามีจะต้องมีระยะห่างเกิน 5 เมตร กับคันบ่อ ถ้าหากฝ่าฝืนจะไม่ได้รับมาตรฐานของ จีเอพี (Good Agricultural Practice ; GAP) ถ้าหากผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วทางสำนักงานประมงจังหวัดนครปฐมจะบันทึกรายชื่อและข้อมูลของแต่ละฟาร์มลงสถิติกรมประมง
ใบมาตรฐานจีเอพี (Good Agricultural Practice ; GAP)
คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ ( อดีตประธานชมรมและรองประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า เมื่อเราจะซื้อลูกกุ้งมาเลี้ยงเราจะต้องมีใบจดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (จสค.) ให้กับทางฟาร์มตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบเสร็จเขาจะออกใบเกิดให้กับเรา ใบเกิด คือใบเกิดของลูกกุ้ง พอถึงวันกุ้งตายเราต้องนำใบเกิดเพื่อไปแจ้งขอใบตายและนำไปขาย การขอใบตายเพื่อแจ้งว่ามีกุ้งประมาณกี่ตัน ตรวจสอบสารแปลกปลอม เพื่อป้องกันการสวมสิทธิแก้ไขรายละเอียดข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง เช่น สวมสิทธิการแก้ไขปริมาณของกุ้งจากเดิมมี 1 ตัน แต่เปลี่ยนตัวเลขไปเป็น 10 ตัน

ขั้นตอนการเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งของชุมชนดอนยายหอมมี ดังนี้

1. ถ้าหากเป็นผู้ประกอบการที่พึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจการประมงเลี้ยงบ่อกุ้งจะ ต้องมีที่ดินเช่าหรือซื้อเองโดยประมาณ 5 – 7 ไร่ เพื่อเป็นการทดลองเลี้ยงจะได้ไม่เสียต้นทุน
2. ทำคันบ่อ โดยใช้รถแทรกเตอร์ หรือรถแม็คโคร ความลึกของดินโดยประมาณ 2.80 – 3 เมตร ความลึกของน้ำ 1.20 - 1.50 เมตร ซึ่งสมัยก่อนจะทำคันบ่อต้องใช้เป็นรถไถที่ได้ดัดแปลงมาจากรถไถนาและนำใบมีดมาติดด้านหน้า จะมีการวิดน้ำเพียงแค่ปีละครั้งเนื่องจากทำยากอุปกรณ์และเทคโนโลยียังเข้าไม่ถึง
3. นำดินในบ่อที่ขุดไว้มาตั้งคันบ่อ ต้องตั้งคันบ่อในระดับที่พ้นน้ำ
4. เตรียมอุปกรณ์ท่อสูบน้ำจากคลองขึ้นบ่อ สูบน้ำขึ้นบ่อในระดับความลึก 1.20 - 1.50 เมตร เป็นวิธีเลี้ยงแบบระบบเปิด คือ การใช้น้ำธรรมชาติโดยไม่มีสารแปลกปลอมเข้ามาช่วยฆ่าเชื้อ และถ่ายน้ำไปยังบ่อพักน้ำ
5. ติดตั้งใบพัดปั่นน้ำหรือเครื่องปั่นน้ำ เพื่อปรับสภาพน้ำให้คงที่และความหนาแน่นของน้ำ
6. เมื่อสูบน้ำขึ้นบ่อแล้วต้องฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยากลูตาราลดีไฮด์ ( Glutaraldehyde ) น้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์ BKC (Benzalkonium Chloride) น้ำยาฟอร์มาลิน ( Formalin ) และ น้ำคลอรีน (Chlorine) ลงน้ำสาดในบ่อและเปิดใบพัดน้ำ ยาฆ่าเชื้อที่เราสาดในบ่อจะอยู่ได้แค่ชั่วคราว การพักน้ำจะใช้เวลาโดยประมาณ 3 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับยาฆ่าเชื้อที่เราใช้ เป็นวิธีเลี้ยงแบบระบบปิด คือ การวิดน้ำ เติมน้ำ และการใช้ยาฆ่าเชื้อเขามาช่วยบำบัดน้ำ
7. ลงปูนแร่ธาตุ และปูนอัลคาไลน์เจือจางกับน้ำในบ่อปรับสภาพน้ำ คุณป้าณัฐวลัย สำราญสุข ( ตำแหน่งเหรัญญิก, 2566 ) กล่าวว่า สมัยก่อนจะใช้หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำ และไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน เพราะเลี้ยงโดยตามธรรมชาติ ในอดีตคลองของชุมชนดอนยายหอมเป็นน้ำที่สะอาด สิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ มีสายบัวและดอกบัวเต็มคลอง มีกุ้งฝอยอาศัยอยู่ในคลองตามธรรมชาติ
8. ช่วงเตรียมน้ำก่อนนำกุ้งลงบ่อต้องใช้ เครื่องวัดค่า PH ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ เพื่อให้น้ำสมดุล ค่า PH ต้องอยู่ที่ 7 – 9 ไม่ควรเกินหรือไม่ต่ำไปกว่านั้น ถ้าหากค่า PH ต่ำต้องใช้ปูนร้อนเร่งค่า PH เข้ามาปรับ แต่ถ้าค่า PH สูงต้องดูดน้ำทิ้งและเปลี่ยนน้ำใหม่ เช่น เครื่องวัดค่าอัลคาไลน์แบบน้ำยาหยด ชุด 1 จะใช้ได้ครั้ง 1 คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า บางครั้งกรมประมงประจำจังหวัดนครปฐมได้แจกเครื่องวัดออกซิเจนในน้ำมาให้ มีรูปแบบการใช้โดยไม่ต้องใช้น้ำยา มีตัวชี้วัด ความเค็มของน้ำ และความเป็นกรดเป็นด่าง บอกเป็นตัวเลขทั้งหมด

ขั้นตอนการเลี้ยงกุ้งของชุมชนดอนยายหอมมีดังนี้

1. นำกุ้งกิโลหรือกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลมาแล้วนำมาลงบ่อ โดยประมาณ 30,000 – 70,000 ตัว / 1 ไร่ ลูกพี คือกุ้งขาวที่มีอายุ 35 วัน นำมาลงบ่อผสมกับกุ้งก้ามกราม โดยประมาณ 12,000 – 20,000 ตัว / 1 ไร่ ยิ่งใส่กุ้งเยอะยิ่งโตช้า แต่ถ้าใส่กุ้งลงบ่อบางๆ จะโตวัย คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ชุมชนดอนยายหอมจะรับซื้อกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลมาแล้วรับซื้อมาจากจังหวัดฉะเฉิงเทรา ชลบุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ ชุมชนดอนยายหอมบางคนก็อนุบาลเอง
2. ให้อาหารกุ้งโดยใช้อาหารเม็ด ช่วงเวลาที่ให้อาหารกุ้ง คือ เช้า และเย็น คุณลุงประยงค์ หอมศรีประเสริฐ ( อดีตรองประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ถ้ากุ้งมีโดยประมาณ 30,000 ตัว ก็จะใช้อาหาร 3 กิโลกรัม / มื้อ ถ้ากุ้งกินหมด ก็จะเพิ่มมื้อละ 1 กิโลกรัม แต่ถ้าเพิ่มแล้วเหลือก็ลด 1 กิโล จนกว่าจะคงที่ ทุก ๆ 2 วัน จะต้องมีการคำนวณให้อาหารกุ้ง เพราะ กุ้งจะโตขึ้นเรื่อย ๆ การให้อาหารเม็ดจะขึ้นอยู่กับขนาดของกุ้ง
3. ให้โปรตีนและวิตามินซีเพื่อเพิ่มขนาดไซส์กุ้ง เช่น ใส้เดือนแดง คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ช่วงที่ขึ้นน้ำใหม่ ๆ จะมีใส้เดือนแดงเกิดกุ้งเล็กที่พึ่งนำลงบ่อก็จะมากินใส้เดือน แต่นาน ๆ ไปน้ำก็จะขุ่นใส้เดือนแดงจะไม่เกิด
4. เมื่อกุ้งขาวจะขายได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 วัน ส่วนกุ้งก้ามกรามต้องมีอายุครบ 3 – 4 เดือน สามารถนำไปขายได้
คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ ( อดีตประทานชมรมและรองประทานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ถ้าเราจะขายกุ้งเป็นต้องนัดวันกับพ่อค้าคนกลางก่อน หลังจากนั้นต้องใช้แรงงานในการนำกุ้งขึ้นบ่อโดยประมาณ 20 กว่าคน การนำกุ้งเป็นขึ้นบ่อต้องสูบน้ำให้แห้ง เมื่อพ่อค้าคนกลางมาถึง คนงานก็จะวัดไซส์กุ้ง แยกกุ้งตาย และแยกกุ้งตัวผู้ ตัวเมีย พอแยกกุ้งเสร็จพ่อค้าก็จะให้ราคากุ้งหน้าฟาร์ม การให้ราคาขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนว่าจะต่อรองราคากับพ่อค้ายังไงถ้าได้ราคาตามที่เราต้องการหรือตกลงกันเสร็จ ก็นำกุ้งชั่งกิโลให้พ่อค้าเลย แต่ถ้าไปขายกุ้งตายที่แพใหญ่หรือห้องเย็นที่มหาชัยจะไม่สามารถต่อรองราคาได้เขาให้ราคาไหนเราก็ต้องยอมรับราคานั้น ราคากุ้งเป็นจะดีกว่ากุ้งตาย รถของพ่อค้าคนกลางจะเป็นรถที่มีออกซิเจนให้กับกุ้งเพราะเป็นการขายกุ้งเป็นไม่เหมือนกับกุ้งตายที่ใช้น้ำแข็งแล้วนำไปไว้ที่ห้องเย็น

ใบพัดปั่นน้ำ หรือเครื่องปั่นน้ำ

ขนาดบ่อกุ้ง

ลากกุ้งขึ้นไปแยก ( แหล่งที่มาของรูปภาพ AQUABIZ )

กุ้งก้ามกราม
( แหล่งที่มาของรูปภาพ www.technologychaoban.com )

ให้อาหารกุ้ง

กุ้งก้ามกรามอายุ 10 วันหลังอนุบาล

วิธีการแก้ปัญหากุ้งป่วยหรือกุ้งตาย

ในระหว่างการเพาะเลี้ยงกุ้ง หากกุ้งป่วยจากการติดเชื้อไวรัสจะไม่สามารถรักษาได้จะต้องวิดน้ำทิ้ง แล้วนำไปขายทันที เนื่องจากไวรัสฝังเข้าไปที่ตัวกุ้งเลยไม่สามารถเลี้ยงต่อได้เพราะมันจะตาย จึงต้องนำไปขายให้ได้ต้นทุน คุณลุงประยงค์ หอมศรีประเสริฐ ( อดีตรองประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า การที่รีบนำกุ้งตายไปขายนั้นชาวบ้านดอนยายหอมจะเรียกว่า “ กินแล้วหนีหน้า ” เพราะมันตาย
ถ้ากุ้งป่วยจากแบคทีเรียที่เกิดมาจากของเสีย ของเสียคือ การปฏิบัติของแต่ละฟาร์มว่าปฏิบัติยังไง ถ้ากุ้งติดเชื้อจากแบคทีเรียในตอนที่กุ้งลอกคราบกุ้งก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าป่วยตอนยังไม่ลอกคราบกุ้งก็จะลอกคราบยาก เพราะเนื่องจากแบคทีเรียเข้าทางเหงือกของกุ้ง หรือจะใช้จุลินทรีย์เข้ามาช่วยบำบัดของเสียก็ได้ จุลินทรีย์มีหลายชนิด มีแบบผง และแบบน้ำ การใช้งานขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละฟาร์ม กรมประมงก็จะนำจุลินทรีย์มาให้เยอะ แล้วชุมชนดอนยายหอมนำมาขยายพันธุ์เอง ในบางรายก็อาจจะซื้อจากผู้ประกอบการคนอื่น

รายได้และต้นทุนจากการเลี้ยงกุ้ง

คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า รายได้การเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งก้ามกรามในแต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน เนื่องจากบางช่วงจะมีเทศกาลที่มีความต้องการของตลาดสูง หรือบางช่วงอาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จึงต้องคิดรายได้ต่อปีโดยประมาณ 1 ล้านบาท / ปี
ต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและกุ้งขาว 500,000 บาท / ปี ได้แก่ ค่าลูกกุ้งขาวหรือกุ้งพี ค่ากุ้งกิโลหรือกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลแล้ว ค่าไฟ ค่ายา ค่าอาหาร ค่าแรงงาน ค่าวิตามิน ค่าจุลินทรีย์ ค่าวัตถุดิบในการปรับน้ำ ฯลฯ

ความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งของชุมชนดอนยายหอม

คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ชุมชนดอนยายหอมหลาย ๆ คนจะมีความเชื่อว่าถ้าอยากเลี้ยงกุ้งแล้วได้รายได้ดี และการเลี้ยงกุ้งให้ไม่ป่วยหรือตาย จะไหว้ศาลพระภูมิ โดยกล่าวว่า “ พระภูมิเจ้าที่ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี ขอให้เลี้ยงกุ้งรอดขายกุ้งดี อะไรก็ว่ากันไป ” หรือบางคนนำน้ำมนต์จากพระที่มีการปลุกเสกแล้วมาหว่านลงบ่อกุ้ง หรือ ไหว้ยายหอม แล้วแต่คนว่าจะขอยังไง เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อให้กระตือรือร้นในการเลี้ยงกุ้งขายกุ้ง

ผลกระทบจากเศรษฐกิจของชุมชนดอนยายหอม

คุณลุงประยงค์ หอมศรีประเสริฐ ( อดีตรองประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2554 มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ในพื้นที่ดอนยายหอมนั้นน้ำจะท่วมบางส่วน แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพราะราคากุ้งตก และมีปัญหาจากการขนส่ง การจับกุ้งเพื่อนำไปขายยากขึ้น ช่วงที่น้ำท่วมคนส่วนใหญ่อยู่ในบ้านไม่สามารถออกไปไหนได้ ร้านค้าหรือร้านอาหารต้องปิดตัวลงส่งผลให้ขายกุ้งได้น้อยลง
คุณป้าณัฐวลัย สำราญสุข ( ตำแหน่งเหรัญญิก, 2566 ) กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน ชุมชนดอนยายหอมที่เลี้ยงบ่อกุ้งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ปัจจัย เนื่องจากราคากุ้งที่ตกต่ำลง ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ รายได้ของประชากรภายในประเทศน้อยลงจึงทำให้ไม่มีกำลังในการซื้อกุ้ง ทั้งนี้มีคู่แข่งจากบริษัทใหญ่เข้ามา เพราะว่าทางบริษัทใหญ่ได้นำเข้ากุ้งขาวจากต่างประเทศเข้ามาโจมตีตลาดชุมชน จึงทำให้ชุมชนดอนยายหอมได้รับผลกระทบไปด้วย และออเดอร์สินค้าจากการส่งออกหรือการขายกุ้งให้กับพ่อค้าคนกลางน้อยลง และราคาต้นทุนการเลี้ยงกุ้งสูงขึ้นกว่าปกติ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าวัตถุดิบ ค่าอาหารกุ้งแพงขึ้น ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ร้านอาหารหรือภัตตาคารปิดลงเพราะผลกระทบเศรษฐกิจทำให้ขาดรายได้จากส่วนนั้นอีกด้วย
คุณลุงสวัสดิ์ เปรมคำ ( อดีตประธานชมรมและรองประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2562 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID - 19 ) เนื่องจากช่วงนั้นมีการล็อคดาว ( Lock Down ) หรือปิดประเทศ ทำให้การส่งออกชะงักไม่สามารถส่งออกกุ้งได้ ประชากรส่วนใหญ่จะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านไม่กล้าออกไปไหน ระบบการขนส่งล่าช้าเนื่องจากมีมาตรการการตรวจสอบเชื้อไวรัสที่เข้มงวดเพื่อฆ่าเชื้อ ร้านค้าต่าง ๆ ร้านหมูกระทะและร้านอาหารไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ทำให้ออเดอร์ในการสั่งกุ้งน้อยลง ช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งที่ชุมชนดอนยายหอมได้ช่วยเหลือกัน
โดยให้แหล่งจุดรับซื้อกุ้งตายที่แช่แข็งผ่านบริษัทห้องเย็นเพื่อหารายได้จากการขายกุ้งผ่านเฟสบุ๊ค ( Facebook ) เป็นการขายกุ้งตายผ่านห้องเย็น และทางตลาดกลางถูกสั่งปิด ทำให้ชุมชนดอนยายหอมจึงมีรายได้ที่น้อยลง คุณลุงธนู หอมชุนภิรมย์ ( อดีตประธานชมรม, 2566 ) กล่าวว่า เมื่อมีผลกระทบของการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID - 19 ) เข้ามา ทำให้คุณลุงธนูรู้สึกว่าทำไมสินค้าของตนขายออกไม่ได้ ทำไมออเดอร์มันน้อยลง ทำไมต้องรอกุ้งตายถึงจะขายได้อย่างเดียว กุ้งตาย คือ การนำไปขายในห้องเย็นทำให้รายได้น้อย ส่วนกุ้งเป็นขายไม่ได้เลย ถึงจะขายได้แต่ได้ในราคาที่ไม่ดี

อนาคตการเลี้ยงกุ้งของชุมชนดอนยายหอม

ปัจจุบันการทำบ่อกุ้งของชุมชนดอนยายหอมมีเยาวชนสนใจน้อยลง การสืบทอดการเลี้ยงกุ้งบางครอบครัวก็มี บางครอบครัวต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากลูกของตนไม่ชอบเพราะการเลี้ยงกุ้งต้องใช้ความอดทน จึงได้วางแผนในอนาคตว่าถ้าเลี้ยงกุ้งแล้วไปต่อไม่รอดตนจะเปลี่ยนบ่อกุ้งมาเป็นบ้านพักหรือรีสอร์ท และมีบ่อตกกุ้งให้กับผู้ที่เข้าพัก
ดังนั้นชุมชนดอนยายหอมบางกลุ่มที่มีประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันอาจจะไม่มีการสืบทอดการเลี้ยงกุ้งสู่รุ่นลูกและรุ่นหลาน แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดินจากการเลี้ยงบ่อกุ้งเป็นในรูปแบบอื่น แต่คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเลี้ยงกุ้งในชุมชนดอนยายหอมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ ส่งผลให้ชุมชนดอนยายหอมมีการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งต่อไป

บรรณานุกรม

ผู้ให้การสัมภาษณ์บ่อกุ้ง ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม

ธนู หอมชุนภิรมย์. (2566, ตุลาคม 20). อดีตประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบล ดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.

สวัสดิ์ เปรมคำ. (2566, ตุลาคม 21). อดีตประธานและรองประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.

ประยงค์ หอมศรีประเสริฐ. (2566, ตุลาคม 21). อดีตรองประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.

ณัฐวลัย สำราญสุข. (2566, ตุลาคม 21). ตำแหน่งเหรัญญิกชมรมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.