อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น

ความเป็นมาและความสำคัญ

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ดอนยายหอมมีประเพณีที่สำคัญ คือ อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นซึ่งเป็นประเพณีไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง โดยอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นเป็นประเพณีที่ทำกันในช่วงเดือน 5 คำว่า “ก๋อน” หรือ “คอน” หมายถึง ลูกคอนหรือลูกช่วง คำว่า “อิ่นก๋อน” คือการโยนลูกช่วง ในอดีตเป็นการละเล่นของหนุ่มสาวไทยทรงดำ เมื่อเว้นว่างจากฤดูการทำนาและทำไร่แล้วนั้นหลุ่มสาวก็จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็น "ข่วง" เพื่อให้สาวๆ ได้มานั่งทำการฝีมือและเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครอง เมื่อถึงวัน 1 ค่ำเดือน 5 ไทยทรงดำจะจัดงานรื่นเริงตลอดทั้งเดือน หนุ่มสาวจะหยุดทำงาน ฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 15-20 คน ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เรียกว่า ไป "เล่นคอน" หมายถึง การเล่นทอดลูกช่วงนั่นเอง ถ้าฝ่ายชายทอดลูกช่วงไปถูกฝ่ายหญิงคนใด ย่อมรู้กันว่าเป็นการจองหญิงคนนั้นไว้แล้วส่วนคำว่า “ฟ้อนแก๊น” หรือฟ้อนแคน หมายถึง การร่ายรำและการเล่นดนตรีประกอบอย่างไรก็ตามเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป การละเล่นดังกล่าวได้ลดบทบาทลง แต่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำดอนยายหอมก็ยังคงมีการรักษาและอนุรักษ์ประเพณีอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ
ประเพณี “อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น” เป็นประเพณีของคนลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ที่ตั้งถิ่นฐานในแถบภาคตะวันตกของไทยในแถบจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม ในอดีตลาวโซ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้มาอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีหลายครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2322 (สมัยกรุงธนบุรี) ครั้งต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2335 ต่อมาใน พ.ศ. 2371 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2379 จากนั้นก็ได้เคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในละแวกใกล้เคียง คือ ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี
บ้านสะแกรายตั้งอยู่หมู่ 9 ตำบลดอนยายหอมเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่และมีตำนานสืบเนื่องมาจากชนเผ่าไททรงดำหรือลาวโซ่งเป็นชนชาติไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกกันต่างๆนานาว่าไทดำผู้ไทดำไทซงดำผู้ไทซงดำ ลาวทรงดำ ลาวซ่วง ลาวซ่วงดำ ลาวโซ่ง ไทโซ่ง อันมีข้อสันนิษฐานว่าที่มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อนั้นก็เนื่องมาจากคำว่า “ โซ่ง ซ่วง หรือส้วง ” ในภาษาลาวโซ่งแปลว่ากางเกง คำว่าลาวโซ่งหรือลาวซ่วง จึงหมายถึงลาวนุ่งกางเกงหรือหมายถึงผู้ที่นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีดำนั้นเองและมีประวัติการเล่าสืบทอดกันว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศต่อมาได้อพยพย้ายจากถิ่นฐานเดิมลงมาสู่ดินแดนทางตอนใต้กับตะวันออกเฉียงใต้เรื่อยมาและกระจายกันอยู่บริเวณมณฑลกวางสียูนนานตังเกี๋ยลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง จนถึงแคว้นสิบสองจุไทยโดยมีเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูเป็นศูนย์กลางการปกครองตนเองอย่างอิสระภายหลังได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งหลักแหล่งกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆในประเทศไทยจำนวนมาก
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ดอนยายหอม มีประเพณีที่สำคัญ คือ อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น ซึ่งเป็นประเพณีไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง โดยอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นเป็นประเพณีที่ทำกันในช่วงเดือน 5 คำว่า “ก๋อน” หรือ “คอน” หมายถึง ลูกคอนหรือลูกช่วง คำว่า “อิ่นก๋อน” คือการโยนลูกช่วง ในอดีตเป็นการละเล่นของหนุ่มสาวไทยทรงดำ เมื่อเว้นว่างจากฤดูการทำนาและทำไร่แล้วนั้น หลุ่มสาวก็จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็น "ข่วง" เพื่อให้สาว ๆ ได้มานั่งทำการฝีมือและเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครอง เมื่อถึงวัน 1 ค่ำเดือน 5 ไทยทรงดำจะจัดงานรื่นเริงตลอดทั้งเดือน หนุ่มสาวจะหยุดทำงาน ฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 15-20 คน ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เรียกว่า ไป "เล่นคอนหรือต๊อดมะก๋อน" หมายถึง การเล่นทอดลูกช่วงนั่นเอง ถ้าฝ่ายชายทอดลูกช่วงไปถูกฝ่ายหญิงคนใด ย่อมรู้กันว่าเป็นการจองหญิงคนนั้นไว้แล้ว ส่วนคำว่า “ฟ้อนแก๊น” หรือฟ้อนแคน หมายถึง การร่ายรำและการเล่นดนตรีประกอบอย่างไรก็ตามเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป การละเล่นดังกล่าวได้ลดบทบาทลง แต่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำดอนยายหอมก็ยังคงมีการรักษาและอนุรักษ์ประเพณีอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ
วิธีการเล่นต๊อดมะก๋อน ทั้งชายและหญิงฝ่ายละห้าถึงหกคนเท่าๆกัน ยืนหันหน้าเข้ามากันกลางข่วง โดยลูกช่วงที่ทำด้วยผ้าสีเย็บเป็นสี่เหลี่ยมยัดด้วยเมล็ดนุ่นมีสายยาวประมาณสองฟุตฝ่ายชายจะพูดชักชวนให้ฝ่ายหญิงรับลูกมะก๊อน เมื่อรับแล้วจะโยนกลับและขอสิ่งของของอีกฝ่ายหนึ่งนาฬิกาข้อมือหรือผ้าขาวม้า ทอดลูกช่วงกันไปมาระยะหนึ่งและพักขับร้องจนกินข้าวเช้าของข่วงนั้นระหว่างการเตรียมอาหารชายหนุ่มจะติดตามหญิงสาวช่วยหุงหาอาหาร เพื่อให้เห็นความขยันอาสาตัดฟืน ตำข้าว ตักน้ำ และเป็นโอกาสในการดูอุปนิสัยใจคอ เมื่อทานอาหารเสร็จต่างฝ่ายพักผ่อนเพื่อกลับมาในช่วงเย็นสำหรับการขับร้องแสดงความรักและการฟ้อนรำ มีท่ารำและท่วงทำนองของแคนที่แตกต่างกันไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ แคนย่างและรำแคนย่าง แคนแล่นและรำแคนแล่น แคนแกรและรำแคนแกร
จากนั้น ช่วงประมาณเที่ยงคืนเป็นการวอนสาวและโอ้สาว การวอนสาวเป็นช่วงที่ชายหนุ่มจะต้องจดจำรูปร่างหญิงสาวที่ตนสนใจในขณะที่ร่วมอิ้นก๊อน เพื่อบอกแก่หัวหน้าข่วงได้ถูกต้องว่าตนจะวอนสาวใด หญิงสาวพยายามปิดบังตนเอง การใช้ผ้าเปียวคลุมหน้าเพื่อทดสอบความจำของชายหนุ่ม โดยไม่มีการนัดหมาย หัวหน้าข่วงทำหน้าที่ในการถามชายหนุ่ม โดยไล่เรียงหญิงสาวในข่วงแต่ละคน หากชายหนุ่มต้องการวอนสาวคนใด จะมายืนอยู่หน้าหญิงสาว จากนั้น หญิงสาวจะเดินไปบริเวณที่เหมาะสมในการพูดคุยเป็นส่วนตัว ส่วนชายหนุ่มที่ไม่มีหญิงสาวพูดคุย จะขับกล่อมชมบ้านเมือง หัวหน้าช่วงต้องคอยดูแลหญิงสาว ไม่ปล่อยให้มีการล่วงเกิน การจัดอิ้นก๊อนจะมีไปตลอดในช่วงหลังเก็บเกี่ยวประมาณหนึ่งเดือน และเป็นโอกาสสร้างความสนิทสนม และนำมาสู่การสู่ขอแต่งงานในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดีเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป การละเล่นดังกล่าวได้ลดบทบาท และได้มีการฟื้นประเพณีขึ้นมาใหม่ โดยมีการจัดเป็นงานประจำปีที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนลาวโซ่ง มีการแต่งกายแบบดั้งเดิม แสดงบทเพลงและการร่ายรำในแบบคนลาวโซ่ง และเน้นการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เกิดจากการจัดงาน โดยมีหน่วยงานราชการสนับสนุน หรือการศึกษาวิจัยในพื้นที่
จากการสัมภาษณ์ นายศิวะกร มิ่งมงคลสุข อยู่บ้านเกาะแรด เชื้อสายไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ได้กล่าวถึงประเพณีอินก้อนฟ้อนแคนไว้ว่า ”อินก้อนฟ้อนแคน มีการสืบทอดกันมา หลายปีตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่ก่อนคนไทยทรงดำ จะมีการทำเกษตรกรและในช่วงเดือน 4-5 ตามจันทร์ทรคติว่างจากการทำ ไร่ทำนาก็จะมีการหาการละเล่น ลงข่วง (ลงห่วง) อินก้อนแฟ้นแคน คือการหาคู่ในสมัยก่อน ก็จะมีการไปตามหมู่บ้านอื่นๆ เช่น นครปฐม สุพรรณ ราชบุรี เพชรบุรี ราวๆ 2 เดือนที่จะมีการเล่นอินก้อนแฟ้นแคน ตามหมู่บ้านไปค้างคืนกัน การอินก้อนแฟ้นแคน ก็จะมีลูกช่วงไวสำหรับการเล่น โยนระหว่างหนุ่มสาว สำหรับให้หนุ่มสาวโยนไปหา กันระหว่างฝ่ายหญิงฝ่ายชายให้ตอบรับกัน ลูกช่วงอันนี้ก็ทำมาจากผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาเย็บประกบเข้าหากัน 4 มุมด้านในจะเป็นผ้าถ้าจะให้มีน้ำหนักด้านในก็จะใส่เม็ดมะขามเพื่อที่จะโยนไปได้ไกล การละเล่นอินก้อนฟ้อนแคนของชาวเกาะแรต จะจัดขึ้นวันที่ 14 เมษายนของทุกปีในช่วงเวลาเย็น 17.00 น. หลังจบการโยนลูกช่วงก็จะมีการรำ รำเป็นคู่หมายถึงการตกลงคบหากัน”

คุณค่าของประเพณีอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น

ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับ “ความรักความสัมพันธ์” : อิ้นกอนฟ้อนแคน“อิ้นกอน” หรือ เล่นคอน “ฟ้อนแกน” หรือ ฟ้อนแคน เป็นภาษาพูดการละเล่นของหนุ่มสาวไทยทรงดำมีความหมายว่า การเล่น ลูกช่วง และการฟ้อนรำประกอบดนตรี คือ แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของไทยทรงดำ ที่เล่นกันมาตั้งแต่ครั้งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองแถง (เดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ลักษณะเป็นการละเล่นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยทรงดำ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย จะเริ่มเล่นกันในช่วงเดือนห้าของทุกปี เป็นกิจกรรมของหนุ่มสาวที่จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผย โดยความยินยอมของครอบครัวและสังคม เป็นภูมิปัญญาที่ให้หนุ่มสาวได้เรียนรู้การเตรียมตัวสู่การมีครอบครัว ทั้งหนุ่มและสาวได้ศึกษาอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ในช่วงที่มีการลงข่วงก็จะเข้ามาเกี้ยวพาราสี นอกจากนี้ยังเป็นการสานความรักและความสามัคคีให้เกิดในชุมชน เพราะการ “อิ้นกอน ฟ้อนแคน” มีการกำหนดข้อตกลงเป็นกฎกติกาที่รับรู้กันในหมู่ไทยทรงดำ
ประเพณีอิ้นกอนฟ้อนแคนทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำเป็นสังคมสงบสุขมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีต่อกันเป็นครอบครัวขยาย ส่วนมากจะมีผู้สูงอยู่ในบ้านด้วยภายในครอบครัวประกอบด้วยสมาชิก พ่อ แม่ ญาติฝ่ายแม่หรือญาติฝ่ายพ่อลูกและหลานเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไป มีปู่ย่าตายายในครอบครัวเป็นผู้อาวุโสทุกคนในบ้านสมาชิกในครอบครัวมีความเกรงใจ เชื่อฟังและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันประกอบอาชีพทำนา เมื่อว่างจากการทำนาก็มีกิจกรรมเล่นลูกช่วง ร้องรำทำเพลง จากคำบอกเล่าของคนไทยทรงดำส่วนใหญ่แรกเริ่มก็เล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่เมื่อได้มาเล่นก็ได้พบปะ เจอหน้าตากัน ก็เกิดความสนใจชอบพอกันกลายเป็นความรัก ดังนั้นการเล่นลูกช่วงก็เลยเป็นประเพณีหาคู่ของคนไทยทรงดำ ซึ่งปัจจุบันประเพณีเริ่มหายไปจะทำกันเมื่อมีงานหรือการจัดแสดงพิเศษอาจเพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีความเจริญทำให้เกิดความต้องการค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทุกคนต้องทำงานทุกวัน มีเวลาการทำงานชัดเจน ทำให้ไม่มีเวลามารวมกันเล่นลูกช่วงเหมือนเดิม
จากการสัมภาษณ์คนไทยทรงดำ ตำบลดอนยายหอม อยากฟื้นคืนประเพณีให้มีจัดขึ้นทุกปี กำหนดเป็นงานประจำปี อาจทำให้หนุ่มสาวได้มีเวลามาเล่นลูกช่วง ร้องรำทำเพลง ได้พบปะเจอกัน และสืบสานประเพณีอิ้นกอนฟ้อนแคนต่อไป

บรรณานุกรม

ศูนย์มนุษยวิทยาสิริธร.(2558). อิ่นก๋อนฟ้อนแก๊นของชาวไทยทรงดำ https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2564).ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับ “ความรักความสัมพันธ์” : อิ้นกอนฟ้อนแคน.