โบราณวัตถุ
พระศิลาขาวและพระศิลาเขียว
ความเป็นมาและความสำคัญ
ศิลปกรรมสมัยทวารวดีส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้รับอิทธิพลมาจากศิลปอินเดียแบบอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ 7 – 11) คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9 – 11) หลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 11 – 13) และปาละ (พุทธศตวรรษที่ 14 – 17)
ประติมากรรมในสมัยทวารวดีส่วนใหญ่ ได้แก่ พระพุทธรูปทวารวดี ส่วนใหญ่สลักด้วยหิน พระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ยังคงมีลักษณะแบบศิลปะอินเดียอยู่ และรุ่นหลังมามีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า ขมวดพระเกศาใหญ่ พระพักตร์แบน พระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางประทานธรรมด้วยพระหัตถ์ขวา แต่พบเป็นจำนวนน้อย
พระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีมีทั้งสลักจากหิน หล่อด้วยสำริด ทำจากปูนปั้นและดินเผา
ส่วนใหญ่แล้วงานประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่จะสลักด้วยหินในตระกูลหินอัคนี (หินเถ้าภูเขาไฟ) หินทราย หินปูน และหินชีสต์
พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาททั้งห้าองค์ พบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันประดิษฐานตามที่ต่างๆ องค์ที่มีผู้ศรัทธากราบไหว้มากที่สุดน่าจะได้แก่ พระพุทธรูปในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นพระศิลาเทาหรือเขียว เรียกกันทั่วไปว่า “พระคันธารราฐ” รองลงมาได้แก่ องค์ที่ลานพระปฐมเจดีย์ และในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ส่วนอีกสององค์คือในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และในพิพิธภัณฑสถานแห่ชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านความเชื่อความศรัทธามีไม่มากนัก เพราะเป็นงานจัดแสดงในฐานะโบราณวัตถุ
พระพุทธรูปปางแสดงธรรมประทับนั่งห้อยพระบาท (แบบยุโรป)
พระพุทะรูปปางแสดงธรรมประทับนั่งห้อยพระบาทแบบยุโรป ถือเป็นลักษณะเฉพาะอีกอิริยาบถหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยทวารวดี รูปแบบที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือบัลลังก์และห้อยพระบาททั้งสองข้างในลักษณะพรงชงฆ์แยกห่างจากกันและส้นพระบาทใกล้กัน นักวิชาการจึงเรียกท่านั่งแบบนี้ว่า แบบยุโรป (European Seat) ซึ่งต่างจากท่านั่งขัดสมาธิซึ่งพบอยู่โดยทั่วไปในอินเดีย เรียกว่า ท่านั่งแบบอินเดีย (Indian seat) พระพุทธรูปยกพระหัตถ์ขวาขึ้นแสดงวิตรรกมุทรา คือการจีบพระอังคุฐกับพระดัชนีเป็นวงกลม อันหมายถึงธรรมจักร โดยทั่วไปแล้วจะวางพระหัตถ์ซ้ายไว้บนพระเพลา (ตัก) ในลักษณะเดียวกับปางสมาธิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะทวารวดี แตกด่างจากปางเดียวกันนี้ที่พบในศิลปะคุปตะของอินเดีย ที่มักแสดงปางวิตรรกะด้วยการจีบนิ้วพระหัตถ์ขวาเป็นวงกลมส่วนพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในลักษณะประคอง (คือ ธรรมจักรมุทรา หมายถึงปางปฐมเทศนา)
การทำพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทเช่นนี้คงมีที่มาจากอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ ซึ่งได้รับอิทธิพลอีกต่อหนึ่งมาจากศิลปะกรีกและอิหร่าน เนื่องจากได้พบงานประติมากรรมในระยะแรกของอินเดียซึ่งเป็นรูปกษัตริย์ในราชวงศ์กุษาณะประทับนั่งบนบัลลังก์ในท่านี้ จากท่านั่งและเครื่องแต่งกายเปรียบเทียบได้กับกษัตริย์หรือนักรบของชนชาติอิหร่าน หลังจากนั้นคงได้ให้อิทธิพลต่องานศิลปกรรมอินเดียในยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะในสมัยคุปตะและหลังคุปตะ เช่น รูปสลักที่ถ้ำอชันตา นอกจากนี้ยังปรากฎในงานศิลปกรรมของจีนทางภาคตะวันออกและจามด้วย
พระพุทธรูปในท่าประทับนั่งแบบนี้พบทั้งที่เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่เดี่ยว ๆ เป็นรูปเล่าเรื่อง และในพระพิมพ์ดินเผา ประติมากรรมชิ้นสำคัญที่สุด ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่พบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมพบทั้งหมด 5 องค์ มีขนาดสูงประมาณ 3.2 - 4 เมตร ปัจจุบันพระพุทธรูปทั้งห้าองค์นี้ ได้แยกย้ายไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ คือ บริเวณลานพระปฐมเจดีย์ 1 องค์ ในวิหารวัดพระปฐมเจดีย์ 1 องค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 1 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ และในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ ข้อสันนิษฐานในชั้นต้นคือพระพุทธรูป 4 องค์ ซึ่งเป็นศิลาขาว คงประดิษฐานในจระนำซุ้มหรือมุขของเจดีย์วัดพระเมรุที่มีฐานยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนองค์ที่ 5 เป็นศิลาเทาหรือเขียว อาจจะประดิษฐานส่วนใดส่วนหนึ่งของเจดีย์หรือภายในวิหารก็ได้
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี
ศรีทวารวดีปุชนียบพิตร
ประดิษฐาน ณ ทิศใตองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระพุทธรูปสี่องค์แสดงปางเหมือนกัน คือ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกระทำวิ-ตรรกมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่เหนือพระชงฆ์ ยกเว้นองค์ที่ 5 ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ แสดงปางที่ต่างออกไปคือ วางพระหัตถ์ทั้งสองข้างคว่ำเหนือพระสงฆ์
พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท (พระพุทธรูปศิลาเขียวหรือเทา) (พระหัตถ์ทั้งสองทำขึ้นใหม่)
เดิมประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระเมรุ นครปฐม
ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา
นอกเหนือจากการแสดงปางเหมือนกันแล้ว พระพุทธรูปสี่องค์แรกยังมีลักษณะร่วมคือ การครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรตกลงด้านหน้าบริเวณกลางพระชงฆ์ ลักษณะเป็นวงโค้งใกล้เคียงกับศิลปะคุปตะของอินเดียอย่างมาก และแตกต่างจากของชวาภาคตะวันออกที่ชายจีวรตกลงมาจีบเป็นริ้ว เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นอิทธิพลของศิลปะปาละ
สำหรับพระพุทธรูปองค์ที่ 5 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงการครองจีวรและปางที่แตกต่างจากองค์อื่น คือ จีวรเป็นริ้วหนาคล้ายกับการครองจีวรของพระพุทธรูปในศิลปะจีนและจาม แสดงปางโดยการวางพระหัตถ์ทั้งสองข้างไว้บนพระชงฆ์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปในศิลปะจามองค์หนึ่งพบที่ศาสนสถานดงเดือง มีขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ทำให้นักวิซาการบางท่านตีความว่าเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบหลักฐานจากเอกสารพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมชำรุด เหลือเฉพาะส่วนพระพักตร์ พระอุระ พระวรกาย พระกรท่อนบน พระชงฆ์ลงมาถึงพระบาท ส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้รับการซ่อมขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาชัยวิชิต (เผือก) เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นส่วนของพระหัตถ์ทั้งสองข้างนั้นจึงเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่รวมทั้งการทำริ้วจีวรหรืออุณาโลมก็อาจจะมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการทำพระหัตถ์ที่วางบนพระชงฆ์ทั้งสองข้าง และการแสดงนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกันไม่เคยปรากฎในศิลปะทวารวดีมาก่อน แต่น่าจะเป็นแบบที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวซ่อมแซมนั่นเอง จากการสังเกตเพิ่มเติมยังพบร่องรอยของการวางพระหัตถ์ที่แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะแสดงปางเช่นเดียวกับพระพุทธรูปสี่องค์ที่กล่าวแล้วข้างต้นและเป็นงานที่มีอิทธิพลของศิลปะคุปตะของอินเดีย จึงไม่น่าจะมีลักษณะพิเศษที่บ่งบอกว่าเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยที่เกี่ยวข้องกับจีนและจามแต่อย่างใด
บรรณานุกรม
ชื่นสุข กาญจนภิญโญวงศ์.(2553).ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ที่วิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในรายงานประกอบรายวิชา ๓๑๗ ๔๐๓ ศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๔.ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ธนิต อยู่โพธิ์.(2510).พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารดี. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร.
พิริยะ ไกรฤกษ์, "การปรับเปลี่ยนอายุพุทธศิลป์ในประเทศไทย," ใน เมืองโบราณ, ปีที่ ๒๕
ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๒)
หม่อมเจ้าสุภทรดิศ ดิศกุล.(2516).วิวัฒนาการของประติมากรรมสมัยทวารวดี.โบราณคดี.
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์.(2440).วิจารณ์พระพุทธรูปศิลาในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัด
พระนครศรีอยุธยา(ฉบับที่ 1).ศิลปากร.