โบราณสถาน

วัดธรรมศาลา

โบราณสถานวัดธรรมศาลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองนครปฐมโบราณ มีลำคลองบางแก้วหรือคลองธรรมศาลาไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เป็นโบราณสถานเก่าแก่ร่วมสมัยกับโบราณสถานเนินพระ และพระประโทณเจดีย์ ทั้งนี้ชื่อของธรรมศาลายังปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์สมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะของโบราณสถานวัดธรรมศาลามีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ทวารวดีทั่วไป คือ มีวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างคือ อิฐ ปูน และศิลาแลง และมีลายปูนปั้นประดับตรงส่วนฐาน มีฐานสี่เหลี่ยมช้อนชั้นขนาดใหญ่ มีการยกเก็จเป็นช่วง ๆ ที่ผนังของฐาน และมีการประดับลวดลาย ได้แก่ปูนปั้นรูปใบไม้ ดอกไม้ตามแบบทวารวดี ส่วนด้านบนของเจดีย์พังทลายไปแล้ว แต่มีซากฐานของสถาปัตยกรรมที่คาดว่าเป็นพระปรางค์สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์สร้างทับอยู่ด้านบน คล้ายกับการสร้างซ้อนทับที่พระประโทณเจดีย์และพระปฐมเจดีย์องค์ดั้งเดิม พื้นที่บริเวณโบราณสถานวัดธรรมศาลานี้สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่นอกเมืองโบราณนครปฐมสมัยทวารวดี มีเนินโบราณสถานวัดธรรมศาลาเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนและสันนิษฐานว่ามีการอยู่อาศัยในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
โบราณสถานวัดธรรมศาลาได้รับการสำรวจจาก ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ต่อมามีการสำรวจและบูรณะจากกรมศิลปากรอีกหลายครั้ง เช่น ใน พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและบันทึกสภาพ ใน พ.ศ. 2555 ได้มีการขุดศึกษาโบราณสถานวัดธรรมศาลาเป็นครั้งแรก และใน พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565 มีการบูรณะโบราณสถานและมีการขุดศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ในการศึกษาทางโบราณคดี ใน พ.ศ. 2555 ดำเนินการโดย สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี พบว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ มีขนาดฐานกว้างยาว 23.50 เมตร สำหรับตัวศาสนสถานหลักเป็นสถูปเจดีย์ โดยบริเวณรอบสถูปเจดีย์พบการปูพื้นด้วยแผ่นอิฐเป็นบริเวณกว้าง และพบฐานอาคารที่ยังไม่ทราบประโยชน์การใช้สอยอีกจำนวน 3 หลัง โดยสถูปเจดีย์องค์นี้มีการสร้างทับซ้อนกันมาอย่างน้อยสองสมัย คือ ส่วนฐานสถูปมีรูปแบบศิลปกรรมแบบในวัฒนธรรมทวารวดี ส่วนบนถัดจากฐานขึ้นไปมีการก่อพอกใหม่ด้วยอิฐเดิม และด้านบนสุดเป็นฐานอาคาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระปรางค์ทรงจัตุรมุข ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดธรรมศาลาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
หลักฐานสำคัญที่พบที่สถูปวัดธรรมศาลาประการหนึ่งคือยังเหลือหลักฐานงานปูนปั้นประดับฐานลูกแก้วกลม(บัววลัย) ฐานชั้นแรกด้านทิศเหนือพบหลักฐานบริเวณพื้นที่ระหว่างเก็จทั้งสองช่อง ซึ่งช่องฝั่งทิศตะวันออกยังเหลือปูนปั้นลายกนกผักกูดส่วนบริเวณฐานบัววลัยชั้นแรกด้านทิศใต้ยังหลงเหลือลายปูนปั้นเป็นแนวยาวลวดลายให้ศึกษาได้แก่ลายใบไม้ในกรอบ แถวเม็ดประคำ สลับลายดอกไม้ในกรอบสี่เหลียมขนมเปียกปูน มีลายกนกผักกูดประกอบดูคล้ายลายประจำยาม บริเวณลวดบัวเส้นเล็กที่รองรับชุดฐานบัววลัยประดับลายปูนปั้น ลายดอกไม้ประดิษฐ์ในกรอบสี่เหลี่ยม เหนือบัววลัยมีชั้นประดับลวดลายปูนปั้น มีการก่ออิฐ 3 ชั้น อิฐชั้นกลาง ก่อลึกเข้าด้านในเพื่อให้เกิดมิติของลวดลาย โดยใช้ลายเสาลูกกรงขนาดเล็กสลับกับลายประจำยามในกรอบด้านข้างซึ่งเป็นลายเม็ดประคำในแนวตั้ง ส่วนด้านบนเป็นแถวลายอัญมณีรูปสี่เหลี่ยม
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานงานปูนปั้นประดับชุดฐาน คือ ส่วนขององค์ประกอบของชุดฐานลูกแก้วกลม (บัววลัย) ที่อยู่บนลานชั้นที่ 2 ซึ่งขนานกับชุดฐานบัววลัย ชั้นที่สอง ที่พบมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นฐานชุดเดียวกับที่พบมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ลวดลายที่พบเป็นลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งบริเวณช่องระหว่างเก็จตรงบัววลัยเป็นลายเม็ดประคำและลายกลีบบัว ชั้นลวดบัวเป็นลายดอกไม้กลมสลับลายดอกไม้ประดิษฐ์ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนบริเวณฐานเขียงเป็นลายประดิษฐ์คล้ายลายประจำยามสลับกับลายดอกไม้ในกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งลายปูนปั้น 2 ชุดหลังนี้ แตกต่างจากลายปูนปั้นที่บัววลัยของชุดฐานนี้และบัววลัยของฐานชั้นแรก รวมถึงลวดลายปูนปั้นที่หลุดร่วงจากตำแหน่งที่ใช้วิธีปั้น แต่ลวดลายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการกดประทับลงบนเนื้อปูน
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งทางโบราณคดีในโบราณสถานวัดธรรมศาลา พบโบราณวัตถุประเภทดินเผาและปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมจำนวนมาก หลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนสถูปจำลองหรือยอดเจดีย์ บางชิ้นมีลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงาย และลายกนกผักกูด นอกจากนี้ยังพบอิฐที่ใช้เป็นวัสดุในการขึ้นรูปสถูปหรือเจดีย์จำลอง เช่น อิฐรูปทรงสามเหลี่ยม อิฐประเภทนี้จะใช้เป็นวัสดุในการขึ้นรูปสถูปหรือเจดีย์จำลอง อิฐรูปทรงครึ่งวงกลม พบหลักฐานปูนปั้นรูปเคารพทางศาสนา หลักฐานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปูนปั้นประเภทนูนต่ำ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูป ในส่วนของพระพักตร์มีเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดี กล่าวคือ พระพักตร์กลมแป้น เม็ดพระศกใหญ่ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน ริมพระโอษฐ์หนา
สำหรับลายปูนปั้นรูปบุคคลสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ บุคคลสามัญ บุคคลชั้นสูง บุคคลต่างชาติ และคนแคระ ที่น่าสนใจ คือ บุคคลต่างชาติ ที่ศีรษะมีการโพกผ้าตามแบบของชาวมุสลิม สำหรับปูนปั้นรูปสัตว์ มีทั้งสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น นก หงส์ และสัตว์ในจินตนาการ เช่น มกร สิงห์ ซึ่งสัตว์ในกลุ่มนี้จะมีกรรมวิธีในการตกแต่งที่บรรจง ประณีต และมีความสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการขุดพบลูกปัดสมัยทวารวดี ในบ้านเรือนของชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลธรรมศาลาอีกด้วย

สารคดีโบราณสถานเจดีย์ธรรมศาลา

โบราณสถานวัดธรรมศาลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม เป็นโบราณสถานเก่าแก่ร่วมสมัยกับโบราณสถานเนินพระ และพระประโทณเจดีย์ ทั้งนี้ชื่อของธรรมศาลายังปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์สมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่