โบราณวัตถุ

พระพุทธรูปร่วมสมัย

พระพุทธรูปยืน

ประเภท:หิน
พบ:พบในจังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง 71 เซนติเมตร สูง 260 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 - 15
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพุทธรูปยืนองค์นี้เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านเรียกกันว่า พระยากง ลักษณะยืนด้วยอาการสมภังค์ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สลักจากหินใหญ่ 3 ก้อน จากร่องรูปตัวไอบริเวณด้านข้างทำให้สันนิษฐานได้ว่ายึดให้ติดกันด้วยเหล็กรูปตัวไอ พระพักตร์เหลี่ยม แบนกว้าง เม็ดพระศก มีขนาดใหญ่ พระขนงเป็นสันนูนโค้งต่อกัน เป็นแนวรูปปีกกา มีอุณาโลมขูดลงไปในเนื้อหินเป็นเส้นวงกลมอยู่เหนือระหว่างพระขนง พระเนตรโปนเหลือบลงต่ำ ทำเส้นรอบขอบพระเนตรเป็น เส้นคู่พระนาสิกโตปลายใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง พระกรรณยาว ท่อนพระกรุหายไปทั้งสองข้าง ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกายแลเห็นขอบสบง
ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ ได้ตั้งข้อสังเกตสำหรับนี้ว่าไม่ใช่ลักษณะอิทธิพลของศิลปะอินเดีย คือ การแสดงปางทั้งสองพระหัตถ์ และพระขนง ลักษณะของพระพุทธรูปทวารวดี เป็นเส้นเดียวกัน ดังนั้นพระพุทธรูปองค์นี้จึงถือว่าเป็นฝีมือของช่างพื้นเมืองแล้ว

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือเศียรพระอรุณาทิตย์

ประเภท:หิน
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง 35 เซนติเมตร สูง 45 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : ประติมากรรมนูนสูง จำหลักบนแผ่นหิน ด้านหน้าเป็น รูปพระพุทธรูป ประทับยืน พระองค์ตั้งตรง เบื้องหลังพระเศียรมีประภามณฑล ลักษณะพระพุทธรูป พระพักตร์กลม พระขนงเป็นสันนูนต่อกันเป็นรูปปีกกาค่อนข้างตรง พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกโตปลายบาน พระโอษฐ์กว้าง พระกรรณยาวจรด พระอังสา ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางแนบพระวรกาย แลเห็นพระวรกายแต่ไม่ปรากฏเพศ พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางประทานธรรม โดยพระหัตถ์ทั้ง 2 ยกขึ้นระดับพระอุระ แนบติดกับพระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์หันออกพระองคุลีทั้ง 4 ตั้งตรง พระอังคฐและพระดัชนีจรดกันเป็นวงกลม ชายจีวรพาดผ่านข้อพระกรทั้ง 2 ตกลงเป็นวงโค้ง พาดทับเหนือข้อพระบาทชายจีวรด้านหลังยาวเสมอข้อพระบาท พระบาททั้งคู่แนบชิดกันบนฐานทรงกระบอกคล้ายเกสรของดอกบัว ซึ่งอยู่เหนือประภามณฑลของ พระอรุณาทิตย์ เบื้องขวาของพระพุทธรูป จำหลักภาพบุคคลยืนเอียงกายบนดอกบัว ท่อนบนของลำตัวแผ่นหินกะเทาะหักหายไป แลเห็นเฉพาะแขนซ้ายทำท่าประคองสิ่งของ โดยการงอแขน ฝ่ามือวางหงายแนบอยู่กับหน้าท้อง ไม่แลเห็นร่องรอยของผ้านุ่ง เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป จำหลักรูปบุคคลยืนเอียงกายบนดอกบัว ใบหน้าถูกกะเทาะแลเห็นเพียงกรอบหน้า ค่อนข้างมน ใบหูยาว เบื้องหลังมีประภามณฑล สวมเครื่องประดับที่คอ ต้นแขนและข้อมือทั้งคู่ มือขวาวางหงายรองรับด้ามแซ่ มือซ้ายจับด้ามแซ่ แนบกับอก นุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า มีแถบผ้าคาดเฉียงจากเหนือเข่าขวา ขึ้นมาผูกไว้ใต้สะโพกซ้าย ขมวดเป็นปมใหญ่ ชักชายยาวไหวพลิ้วออกด้านซ้าย ชายผ้าเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ พระอรุณาทิตย์เป็นรูปบุคคลมีปีก แลเห็นเฉพาะท่อนบนของลำตัว อยู่ในท่าโผบิน มือทั้ง 2 แนบกับอก ในมือกำก้านของดอกบัวข้างละดอก
ลักษณะกลีบของดอกบัวทั้ง 2 ต่างกัน หรืออาจจะเป็นดอกไม้คนละชนิดกัน ดอกไม้แต่ละดอกชูขึ้นเหนือไหล่ รองรับรูปบุคคลซึ่งยืนขนาบข้างพระพุทธรูป พระอรุณาทิตย์มีวงหน้ากลม เกล้าผมสูง เป็นรูปทรงกระบอกตอนบนผายเล็กน้อย ด้านหน้าของมวยผมมีกระบัง รูปสามเหลี่ยม เบื้องหลัง มีประภามณฑล นัยน์ตาเบิกกว้าง จมูกเป็นสันคม ปากกว้าง สวมต่างหูเป็นแผ่นกลม มีเครื่องประดับคอ

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

ประเภท:หิน
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง 32 เซนติเมตร สูง 52 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : ประติมากรรมนูนสูง จำหลักบนแผ่นหินเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืน พระองค์ตั้งตรง พระพักตร์ชำรุด พระกรรณยาว จรดพระอังสา ครองจีวรห่มคลุม จีวรบาง แลเห็นพระวรกาย แต่ไม่ปรากฏเพศ แลเห็นขอบจีวรที่รอบพระศอ และขอบสบงที่ปั้นพระองค์เป็นสันนูน พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางประทานธรรม โดยพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นระดับพระอุระแนบติดกับ พระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์หันออก พระองคุลีทั้ง 4 ตั้งขึ้น พระดัชนีและพระอังคฐจรดกันเป็นวงกลม ชายจีวรพาดผ่านข้อพระกร ทั้งสองข้างแล้วตกลงเป็น วงโค้งเหนือข้อพระบาท ชายจีวรด้านหลังยาวเสมอข้อพระบาท พระบาทแนบชิดบนฐานบัว ซึ่งอยู่ระหว่างเขาทั้งคู่ของสัตว์ผสมที่เรียกว่า พนัสบดี เบื้องขวาของพระพุทธรูป จำหลักรูปบุคคลยืนบนปีกด้านขวาของพนัสบดี โดยยืนหันหน้าตรง มุ่นมวยผมคล้ายทรงชฎามงกุฎ มือซ้ายวางหงายอยู่ระดับเอวรองรับส่วนปลายของตามวัตถุ มือขวาจับด้ามวัตถุดังกล่าวแนบติดกับอก
ส่วนปลายของวัตถุแผ่นหินกะเทาะหักหายไป จึงไม่สามารถมองเห็นว่าเป็นอะไร เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป จำหลักรูปบุคคลยืนหันหน้าตรง บนปีกด้านซ้ายของพนัสบดี เกล้าผมเป็นมวยสูงรูปกรวยคว่ำ มือทั้งสองจับด้ามวัตถุ เช่นเดียวกับบุคคลเบื้องขวาแต่มือสลับข้างกัน ส่วนปลายของวัตถุแผ่นหินกะเทาะ หักหายเช่นกัน เครื่องนุ่งห่มของบุคคลทั้งสองบางจนเหมือนมิได้ มีผ้าห่มคลุมแต่สังเกตได้จากขอบผ้า เป็นเส้นโค้งรอบคอ ขอบผ้านุ่งเป็น สันนูนที่รอบเอวและริ้วผ้าที่สลักเป็นเส้นตื้นๆ ตั้งแต่ต้นขาจรดข้อเท้าที่สะโพกของบุคคลเบื้องซ้าย มีปมผ้าขมวดชักชายเป็นก้อนกลม มีชายผ้าตกลงยาวจรดข้อเท้าพนัสบดี มีลักษณะเป็นสัตว์ผสม แลเห็นเฉพาะใบหน้ากลม นัยน์ตาโปนเบิกกว้าง คิ้วเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา เหนือคิ้วมีเขา 1 คู่ คล้ายงวงช้าง ปลายเขาบิด เข้าหากันจรดฐานบัวซึ่งรองรับพระพุทธรูป โคนเขามีหูเล็กๆ 1 คู่ เหนือ ระหว่างคิ้วมีหงอน จำหลักคล้ายใบไม้ จมูกโตคล้ายจมูกคน ปลายจมูกบาน ใต้จมูกลงมาสลักเป็นเส้นโค้ง 2 เส้น แยกจากกันจากร่องจมูกเป็นเส้นโค้ง ถัดออกไปเป็นปีกกางในท่าโผบิน ใต้คางมีขาคู่ 1 คู่ ด้านหลังของประติมากรรม ตรงกลางโกลนเป็นเดือยกลมยื่นออกมาจากแผ่นหลังเล็กน้อยตรงกลางเจาะรูกลมทะลุออกมาทางด้านหน้าของประติมากรรมบริเวณ เหนือข้อพระบาทของพระพุทธรูป

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

ประเภท:หิน
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง 34 เซนติเมตร สูง 47 เซนติเมต
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : ประติมากรรมนูนสูงจำหลักบนแผ่นหิน ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืน พระบาทชิดกันเหนือฐานรูปดอกบัวหงายซึ่งอยู่ระหว่างเขาของพนัสบดี พระวรกายเอียงเล็กน้อย พระหัตถ์ทั้ง 2 ยกขึ้นเสมอพระอุระ แลเห็นเพียงพระหัตถ์ ด้านขวาแสดงปางวิตรรกะ จีวรบางแนบพระองค์ครองจีวร ห่มคลุม สังเกตได้จากข้อพระหัตถ์ทั้งสองมีชายจีวรพาดผ่าน ชายจีวรตกเป็นวงโค้ง ด้านหน้าใต้ชายจีวรเจาะเป็นช่องกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ชายจีวรด้านหลังยาวจรดข้อพระบาท ขอบจีวรเหลื่อมซ้อนลดหลั่นกันที่ปั้นพระองค์ ขอบสบงเป็นสันนูนแต่ไม่ปรากฏเพศ ส่วนของพระเศียร และพระอังสาซ้าย ชำรุดหักหายไป แลเห็นร่องรอยของประภามณฑลเหนือพระอังสาขวา เบื้องขวาของพระพุทธรูป มีรูปบุคคล ยืนด้วยอาการตริภังค์ (เอียงตน) บนปีกด้านขวาของพนัสบดี บุคคลดังกล่าวนุ่งผ้ายาวแลเห็นขอบผ้าเหนือข้อเท้า ระหว่างต้นขามีชายผ้าสั้น ผ้าที่สวมใส่บางแนบเนื้อ ใบหน้าค่อนข้างกลม แบนกว้าง จมูกโต คิ้วต่อเป็นรูปปีกกา นัยน์ตาโปนเหลือบลงต่ำ ปากกว้าง ใบหูยาวจรดบ่า เกล้าผมสูงคล้ายทรงชฎามงกุฎ 2-3 ชั้น มือทั้ง 2 ประคอง ด้ามแส้จามรี ตอนปลายของแส้แนบกับศีรษะด้านขวา เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป มีรูปบุคคลยืนด้วยอาการ ตริภังค์ บนปีกด้านซ้ายของพนัสบดี ส่วนของศีรษะชำรุดหักหายไป ติ่งหูด้านขวาคล้ายกับมีใส่ตุ้มหูยาวพาด อยู่เหนือบ่า มือทั้ง 2 ประคองด้ามหรือคันฉัตร ซึ่งส่วนยอดหักหายไป นุ่งผ้าสั้นระดับเข่า ชายผ้านุ่งด้านบนทับ เป็นขอบซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดลงมามีชายผ้าพลิ้วคล้ายชายไหวอยู่ด้านซ้ายของต้นขา ที่สะโพกด้านซ้ายมีปมผ้าขมวดเป็นวงโค้งห้อยลง ชายผ้าอีกด้านยาวจรดข้อเท้า พนัสบดี มีลักษณะเป็นสัตว์ผสมอยู่ในท่าโผบิน มองเห็นด้านหน้าตรง นัยน์ตาโปนเบิกกว้าง คิ้วโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา ที่หางคิ้วมีหูเล็กๆ 1 คู่ เหนือคิ้วมีเขา 1 คู่ เขาตั้งค่อนข้างตรงปลายบิดโค้งเข้าระหว่างคิ้วมีหงอน จำหลักลายคล้ายลายผักกูด แก้มเป็นกระพุ้ง ระหว่างแก้มเป็นสันนูน คล้ายจมูกหรือจงอยปากนก สองข้างแก้มจำหลักลายคล้ายเคราหรือแผงคอเป็นรูปกลีบบัว ถัดออกไปเป็นปีกซึ่งกางออก ใต้เครา มีขาคู่อยู่ 1 คู่
ลักษณะรูปบุคคลแสดงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ แต่รูปบุคคลที่ยืนอยู่ด้านขวาของพระพุทธองค์ มีลักษณะทรงผมและ การยืนใกล้เคียงมาก กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะศรีวิชัย พบที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พระพุทธรูปยืนปางแสดปางวิตรรกะ(ประทานธรรม)

ประเภท:หิน
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:สูง 133 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 - 15
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพุทธรูปยืนแสดงวิตรรกมุทราทั้ง 2 พระหัตถ์ พระพักตร์ค่อน ข้างกลม พระศกใหญ่ หนังพระเนตรโปน พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์หนา ครองจีวรคลุมบางแนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าเป็นเส้นโค้งอยู่เหนือชายสบง พระหัตถ์ทั้งสองจีบอยู่ระดับพระอุระ ประทับยืนแบบสมภังค์ พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นรูปแบบที่พบในศิลปะทวารวดีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้น แต่ไม่พบในศิลปะอินเดีย แม้แต่ในพระพุทธรูปยืนสมัยคุปตะเชื่อว่าเป็นต้นแบบให้พระพุทธรูปทวารวดีแสดงปางวิตรรกะด้วยพระหัตถ์เดียวอันมีความหมายถึง การแสดงธรรม นักวิชาการให้ความหมายของพระพุทธรูปยืนแสดงปางวิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ว่า หมายถึงปางเสด็จลงจากดาวดึงส์โดยเปรียบเทียบกับภาพสลักพระพุทธรูปแสดงปางตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ประทับยืนเหนือพนัสบดี มีพระอินทร์ พระพรหม ประทับอยู่สองข้าง ซึ่งพ้องกับเหตุการณ์พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่ทั้งนี้ยังมีภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงปางวิตรรกะสองพระหัตถ์เหนือ พนัสบดีบางภาพที่ไม่มีพระอินทร์ พระพรหมประกอบ หรือมีบริวารประกอบเป็น โพธิ์สัตว์ซึ่งกรณีนั้นการแสดงปางดังกล่าวน่าจะมีความหมายต่างออกไป

พระพุทธรูปยืน

ประเภท:หิน
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:สูง 214 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : เป็นโกลนพระพุทธรูปประทับยืนด้วยอาการสมภังค์ (ยืนตรง) พระกรทั้งคู่ยกขึ้นระดับพระอุระ พระหัตถ์หายไป มีรูเล็กๆ ตรงข้อพระกรทั้งคู่ คงทำไว้เพื่อรองรับเดือยที่ติดอยู่กับพระหัตถ์ พระพักตร์เหลี่ยมแบนกว้าง พระขนงเป็นสันนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบนโต พระโอษฐ์แบะ ริมพระโอษฐ์หนา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระเกศาและเกตุมาลาโกลนไว้คร่าว ๆ ยังไม่ได้สลักรายละเอียด ครองจีวรห่มคลุมจีวรบางแนบพระองค์ แลเห็นพระวรกายชัดเจน ชายจีวรที่พาดผ่านข้อพระกรทั้ง 2 ข้าง ตกลงเป็น วงโค้งเหนือข้อพระบาทเล็กน้อย ส่วนชายจีวรด้านในตกลงข้างพระวรกาย เป็นเส้นตรงยาวเสมอข้อพระบาทชายจีวรที่พาดทับข้อพระบาทเป็นเส้นตรง พระบาทและฐานยังไม่ได้จำหลักลายละเอียด ด้านหลังของพระพุทธรูปไม่มีการตกแต่ง
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งยังสลักไม่เสร็จหาก ดูจากลักษณะของพระพักตร์ ที่ค่อนข้างแบนและเป็นเหลี่ยมมาก แสดงให้เห็นลักษณะของอิทธิพลของศิลปะเขมร จึงควรที่จะกำหนดอายุ ให้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16

พระพุทธรูปศิลาขาว

ประเภท:หิน
พบ:พบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:สูง 370 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดีระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 -14
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รายละเอียด : พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทเหนือบัลลังก์ มีพระพักตร์กลม เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาค่อนข้างเตี้ย เหนือพระเกตุมาลาเป็นพระรัศมีรูปดอกบัวตูมขนาดเล็ก พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนา พระนาสิกเป็นสัน พระกรรณยาว พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ครองจีวรบางแนบพระวรกาย พระชงฆ์แยกห่าง พระบาทวางบนดอกบัว จากรูปแบบที่ปรากฏมีความคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะอีกทั้งยังผสมผสานกับรสนิยมพื้นเมืองอย่างลงตัว

พระพุทธรูปศิลาเขียว

ประเภท:หิน
พบ:พบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:สูง 370 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดีระยะที่สองประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 - 14
ปัจจุบัน:พระวิหารสรรเพชญ์ หรือพระวิหารคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รายละเอียด : พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทเหนือบัลลังก์ มีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระศกมีขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาค่อนข้างเตี้ย เหนือพระเกตุมาลาเป็นพระรัศมีรูปดอกบัวขนาดเล็ก พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนา พระนาสิกเป็นสัน พระกรรณยาว พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง วางคว่ำบนพระเพลาครองห่มเฉวียงบ่าจีวรบางแนบพระวรกาย ปลายจีวรพับเป็นริ้วอยู่เหนือพระอุระ พระชงฆ์แยกห่างกัน ส้นพระบาทชิด พระบาทวางบนดอกบัว จากรูปแบบที่ปรากฏมีความคล้ายคลึงกับ ศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะอีกทั้งยังผสมผสานกับรสนิยมพื้นเมืองอย่างลงตัว พระพุทธรูปมีการบูรณะพระหัตถ์กับประภามณฑลบางส่วนในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดเกล้าให้พระยาไชยวิชิต (เผือก) เป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาเขียวสมัยทวารวดีมาจากวัดมหาธาตุในอยุธยามาประดิษฐานในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ แต่มีบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเดิมอยู่ที่วัด พระเมรุจังหวัดนครปฐม

พระพุทธรูปศิลาขาว

ประเภท:หิน
พบ:พบพบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมจังหวัดนครปฐม
ขนาด:สูง 370 เซนติเมตร
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดีระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 -14
ปัจจุบัน:ลานประทักษิณชั้นที่ 1 ด้านทิศใต้ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
รายละเอียด : พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทเหนือบัลลังก์ มีพระพักตร์กลม เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาค่อนข้างเตี้ย เหนือพระเกตุมาลาเป็นพระรัศมีรูปดอกบัวตูมขนาดเล็ก พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนา พระนาสิกเป็นสัน พระกรรณยาว พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ครองจีวรบางแนบพระวรกาย พระชงฆ์แยกห่าง ส้นพระบาทชิด พระบาทวางบนดอกบัว จากรูปแบบที่ปรากฏมีความคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะอีกทั้งยังผสมผสานกับรสนิยมพื้นเมืองอย่างลงตัว

พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม

ประเภท:สําริด
พบ:พบในบริเวณพระราชวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รายละเอียด : พระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทราทั้ง 2 พระหัตถ์ พักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกใหญ่ พระเกตุมาลา ค่อนข้างเตี้ย เหนือพระเกตุมาลาเป็นพระรัศมีรูปดอกบัวตูมขนาดเล็ก เปลือกพระเนตร โปนพระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนา ครองจีวรห่มเฉวียงบ่าถึงพระชงฆ์ ชายจีวรด้านหน้าเป็นเส้นโค้งอยู่เหนือชายสบง พระหัตถ์ทั้งสองจีบอยู่ระดับพระอุระ ประทับยืนแบบสมภังค์ ส่วนต่ำกว่าข้อพระบาทชำรุด

พระพุทธรูปยืนปางทรงแสดงธรรม

ประเภท:สําริด
พบ:พบในวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รายละเอียด : พระพุทธรูปยืน พักตร์ค่อนข้างกลม พระศกใหญ่ พระเนตรเหลือบต่ำ หนังพระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา ครองจีวรคุมบางแนบพระวรกาย จีวรเป็นริ้วอย่างเป็นระเบียบ ชายจีวรด้านหน้าเป็นเส้นโค้งอยู่เหนือชายสบง พระหัตถ์ขวาชำรุด สันนิษฐานว่า แสดงวิตรรกมุทรา พระหัตถ์ซ้ายหงายออกยึดชายจีวรในระดับพระโสภีประทับยืนแบบสมภังค์

พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาททรงแสดงธรรม

ประเภท:สําริด
พบ:พบในวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รายละเอียด : พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางประทานพร พระพักตร์ค่อนข้างยาว พระโขนงเป็นวงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำพระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนาแย้มถ้าพระสรวลเล็กน้อย เม็ดพระศกใหญ่ พระเกตุมาลาขนาดใหญ่นูนขึ้นเล็กน้อย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทาน พระหัตถ์ซ้ายหงายออกยึดชายจีวร ครองจีวรห่มเฉวียงบ่า จีวรบางแนบพระวรกายประทับนั่งห้อย พระบาทพระเพลาแยกออกจากกัน พระบาทวางขนานกัน

พระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์

ประเภท:หิน
พบ:พบในจังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รายละเอียด : แผ่นหินสลักรูปพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ พระพักตร์ด้านล่างชำรุด พระเกศาและพระเกตุมาลาสลักเป็นพื้นผิวขรุขระ พระเกตุมาลาเป็นทรงกระบอก สูงด้านหลังพระเศียรมีประภามณฑลเป็นรูปวงโค้ง พระขนงจรดกัน พระเนตรเหลือบลง หนังพระเนตรโปน พระกรรณยาวจรดพระอังสา ครองจีวรห่มคลุมบาง แนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าตกลงเป็นวงโค้ง พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง แสดงวิตรรกมุทราด้านข้างมีรูปบุคคลขนาบข้างมีขนาดเล็กกว่าพระพุทธเจ้า แต่งกายแบบกษัตริย์ สวมต่างหูขนาดใหญ่ ถือแส้ทั้ง 2 องค์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอินทร์และพระพรหม ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ดินเผา
พบ:พบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ขนาด:กว้าง
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์เสี้ยมยาว พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาสูงเป็นรูปกรวยคว่ำ ด้านบนของพระเกตุมาลาลาดเอียงไปทางด้านหลัง ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดกลม ปั้นติดเรียงเป็นแถวๆ พระกรรณด้านซ้ายกะเทาะหายไป แลเห็นเพียงพระกรรณด้านขวายาวจรดพระศอ ใบพระกรรณเซาะเป็น ร่องลึก จากส่วนบนจรดปลายติ่งพระกรรณ พระขนงเป็นเส้นเล็ก นูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรอูม สายพระเนตรทอดต่ำ เส้นขอบพระเนตรเป็นรูปนกนอน พระนาสิกเป็นสันคม พระโอษฐ์เล็ก ริมพระโอษฐ์ ล่างหนายื่น

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ดินเผา
พบ:พบในจังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์ค่อนข้างยาว พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาสูงเป็นรูปกรวยคว่ำ เม็ดพระศกกลมปั้นติดเรียงเป็นแถวๆ ใบพระกรรณยาว เซาะเป็นร่องลึก จากตอนบนจรดปลายถึงพระกรรณ พระขนง เป็นสันนูนต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกค่อนข้างเล็กเป็นสัน พระโอษฐ์เล็ก ริมพระโอษฐ์ล่างหนายื่น มุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้น

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ดินเผา
พบ:พบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์เสี้ยมยาว พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาสูงเป็นรูปกรวยคว่ำ เม็ดพระศกกลมใหญ่ หลุดร่วงเหลือเพียง 4-5 เม็ด แลเห็นรอยบุ๋มเรียงเป็นแถว พระกรรณด้านซ้ายหักหายไปทั้งหมด พระกรรณด้านขวาเหลือเพียงส่วนบน ส่วนติ่งพระกรรณหักหายไป พระขนงเป็นเส้นนูนเล็กน้อยโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ แลเห็นเป็นเส้นคมใต้ขอบพระเนตร พระนาสิกใหญ่เป็นสัน พระโอษฐ์กว้างและบาง ริมพระโอษฐ์ล่างยื่น มุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้น เหนือพระโอษฐ์บนมีร่องแบ่งกึ่งกลาง

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ดินเผา
พบ:พบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์เหลี่ยม พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาเป็นจอมรูปกรวยคว่ำ เม็ดพระศกใหญ่ค่อนข้าแหลม ปั้นติดเรียงเป็นแถว พระกรรณยาว ใบพระกรรณเซาะเป็นร่องลึก พระขนงเป็นสันนูนเล็กน้อย ต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนโตเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรค่อนข้างเรียบ ใต้ขอบพระเนตรค่อนข้างเรียบ ใต้ขอบพระเนตรเซาะเป็นร่องตื้น พระนาสิกโตเป็นสันคม พระโอษฐ์หนาและกว้างมุมโค้งขึ้นเหนือพระโอษฐ์มีร่องแบ่งกึ่งกลาง พระหนุเหลี่ยม

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ดินเผา
พบ:พบที่ จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาเตี้ยเป็นรูปกรวยคว่ำ ด้านบนโค้งมน เม็ดพระศกเล็กค่อนข้างเหลี่ยมเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ (คล้ายเปลือกขนุน) ตกแต่งด้วยการขูดเป็นตาตาราง แบ่งเม็ดพระศกแต่ละเม็ดออกจากกัน แนวเม็ดพระศกเหนือพระนลาฏเป็นเส้นตรง พระกรรณข้างขวาหักหายไป เหลือเพียงข้างซ้ายเฉพาะครึ่งบน ขอบพระกรรณทำเป็นเส้นนูน ติ่งพระกรรณเซาะเป็นร่องตื้นๆ พระขนงเป็นเส้นนูนเล็กน้อยโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เส้นขอบพระเนตรเป็นรูปรี เปลือกพระเนตรเป็นขอบ พระนาสิกเล็กเป็นสันมน พระโอษฐ์ค่อนข้างบาง และกว้างเผยอเล็กน้อย มุมตวัดขึ้น เหนือพระโอษฐ์เซาะเป็นร่องแบ่งกึ่งกลาง

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ วัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์มน พระนลาฏค่อนข้างกว้าง พระเกตุมาลาเป็นต่อมกลมคล้าย มวยผมมองเห็นเฉพาะด้านหน้า ด้านหลังของพระเกตุมาลาปาดเรียบเป็นแนวเฉียงลงไป ทางด้านหลังเม็ดพระศกค่อนข้างกลมปลายมน เรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบตกแต่งด้วยการ ขูดเป็นตาตารางแบ่งเม็ดพระศกแต่ละเม็ดออกจากกัน แนวเม็ดพระศกเหนือพระนลาฏเป็นเส้นตรง พระกรรณแบนขอบเป็นสันนูน ใบพระกรรณตรงกลางเซาะร่องรูปวงโค้ง ซึ่งพระกรรณขุดเป็นร่องลึก พระขนงเป็นเส้นนูนเล็กเรียวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เส้นขอบเป็นรูปนกนอน พระนาสิกเล็กเป็นสันคม พระโอษฐ์บางและกว้าง เหนือพระโอษฐ์มีสันนูนเป็นขอบตรงกลางเซาะร่อง แบ่งครึ่ง พระหนุสั้น

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ วัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์มน พระนลาฏแคบพระเกตุมาลาหักหายไป เม็ดพระศกใหญ่ เป็นต่อมกลม ปั้นติดเรียงเป็นแถวค่อนข้างเป็นระเบียบ ติ่งพระกรรณทั้งสองข้างหักหายไป ใบพระกรรณทำไว้อย่างคร่าวๆ ไม่ค่อยเรียบร้อย พระขนงเป็นสันนูนเล็กน้อย โค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรเป็นเส้นสองชั้น เส้นขอบพระเนตรเป็นรูปนกนอน พระนาสิกโด่งเป็นสันมน พระโอษฐ์หนาแบะเหนือพระโอษฐ์เซาะเป็นร่องแบ่งกึ่งกลาง

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์มน พระเกตุมาลาเป็นกระเปาะกลมคล้ายมวยผม เม็ดพระศก มีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมสูงปลายมน ตกแต่งด้วยการขูดเป็นตาตารางแบ่งเม็ดพระศกแต่ละเม็ดออกจากกัน เม็ดพระศกเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ จรดปลายพระเกตุมาลา แนวเม็ดพระศกเหนือพระนลาฏเป็นเส้นตรง ติ่งพระกรรณข้างซ้ายหักหายไป พระกรรณข้างขวายาว ขอบตอนบนทำเป็นสันนูน ตรงกลางเซาะ เป็นร่อง ติ่งพระกรรณขูดเป็นร่องลึก พระขนงเป็นเส้น นูนเล็กเรียวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เส้นขอบเป็นรูปนกนอน พระนาสิกเล็กเป็นสันคม พระโอษฐ์บางและกว้าง เผยอเล็กน้อย มุมตวัดขึ้นเหนือ พระโอษฐ์มีแนวเส้นนูนเป็นขอบคล้ายเรียวพระมัสสุ

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ วัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์ กลมมนพระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาเป็นรูปกรวยคว่ำ คล้ายมวยผม เม็ดพระศกตกแต่งด้วยการขีดเป็นตาตาราง ตอนปลายเม็ดพระศกโค้งมนเล็กน้อย แนวขอบเม็ดพระศกเป็นเส้นโค้งเว้าลงตรงกลางพระนลาฏ ขอบพระกรรณเป็นสันนูน ตรงกลางเซาะเป็นร่อง พระขนงเรียวเป็นสันนูนเล็กน้อยโค้งจรดกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เส้นขอบพระเนตรเป็นรูปนกนอน พระนาสิกเล็กเป็นสันคม พระโอษฐ์แบะ ค่อนข้างหนาเซาะเป็นร่องค่อนข้างตรงมุมตวัดขึ้น เหนือพระโอษฐ์เป็นเส้นนูน คล้ายเรียวพระมัสสุ

เศียร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์มนยาว พระนลาฏแคบ พระเกตุมาลาคล้ายมวยผม รูปทรงกระบอกปลายมน เม็ดพระศกตกแต่งด้วยการขูดเป็นร่องแบบตาตาราง ด้านบนของเม็ดพระศกค่อนข้างเรียบเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ แนวขอบเม็ดพระศก ด้านหน้าเว้าลงกลางพระนลาฏเล็กน้อย พระกรรณแบนริมเป็นสัน ตรงกลางเซาะร่องเป็นรูปวงโค้ง ติ่งพระกรรณเซาะเป็นร่องยาว พระขนงเป็นสันนูนเล็กเรียว พระเนตรโปนเหลือบต่ำ เส้นขอบพระเนตรเป็นรูปนกนอน พระนาสิกเล็กเป็นสันเตี้ยๆ พระโอษฐ์หนาแบะเซาะเป็นร่องโค้งขึ้น เหนือพระโอษฐ์มีเส้นเป็นขอบบางๆ บนพระพักตร์ และพระเศียรมีคราบปูน พอกทับ และหลุดลอกออกแต่ยังไม่หมด

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ วัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์ มนยาว พระนลาฏกว้าง เม็ดพระศกกลมโต ปั้นติดเรียงเป็นแถว 3-4 แถว ด้านบนกะเทาะหายไปเกือบหมด เดิมคงมีพระเกตุมาลาแต่ชำรุดหายไป ด้านบนของพระเศียรเว้าลงเป็นแอ่ง พระกรรณทั้งคู่หักหายไปทั้งหมด พระขนงเป็นสันเหลี่ยมกะเทาะหลุดเหลือเพียงบางส่วน แลเห็นเป็นรอยโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ หางพระเนตรตวัดขึ้น เส้นขอบพระเนตรด้านบน ขูดเป็นเส้นคู่ พระเนตรสลักเป็นรูกลมเดิมคงฝังหิน หรือวัสดุอื่นแต่หลุดหายไป พระนาสิกโตเป็นสันคม ปลายบาน พระโอษฐ์กว้าง ริมพระโอษฐ์ล่างหนายื่น เส้นขอบพระโอษฐ์เป็นเส้นคู่ เหนือพระโอษฐ์ด้านบนมี เรียวพระมัสสุ ด้านหลังของพระพักตร์มีแกนเป็นแผ่นอิฐ

พระพักตร์พระพุทธรูป

ประเภท:ปูนปั้น
พบ:พบที่ วัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย:พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16
ปัจจุบัน:พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
รายละเอียด : พระพักตร์พระพุทธรูป วงพระพักตร์มนยาว พระนลาฏกว้าง เม็ดพระศกกลมโต ปั้นติดเรียงเป็นแถว 3-4 แถว เดิมคงมีพระเกตุมาลาแต่ชำรุดหายไป ด้านบนของพระเศียรเจ้าลงเป็นแอ่ง ด้านซ้ายของพระพักตร์ยังคง เหลือส่วนบนของใบพระกรรณติดอยู่ ส่วนล่างหักหายไป ด้านขวาพระกรรณหักหายไปทั้งหมด พระขนงเป็นเส้นเหลี่ยมนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระเนตรสลักเป็นวงกลม ตรงกลางเจาะเป็นรูเดิมคงฝัง หินสีหรือวัสดุอื่น เส้นรอบขอบพระเนตรเป็นเส้นคู่ พระนาสิกโตเป็นสันคม ปลายพระนาสิกบาน พระโอษฐ์กว้าง ริมพระโอษฐ์ด้านล่างหนา เส้นขอบพระโอษฐ์ด้านล่างเป็นเส้นคู่ เหนือริมพระโอษฐ์บนมีเรียวพระมัสสุ ด้านหลังมีแกนด้านในที่เป็นแผ่นอิฐครึ่งแผ่นอยู่ตรงกลาง แล้วปั้นปูนพอกด้านหน้า

บรรณานุกรม

มนัสศักดิ์ รักอู่. (2554). ศึกษาพุทธศิลป์สมัยทวารวดี : เมืองโบราณภูมิภาค. (รายงานการวิจัย). มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
สมลักษณ์ คำตรง. (2564). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : กลุ่มเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์กรมศิลปากร.
สภาจังหวัดนครปฐม. (2563). ทวราวดีศรีนครปฐม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. นครปฐม.
สำหนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2548).
โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : ส.พิจิตกราพิมพ์