โบราณสถาน

วัดพระเมรุ

สถานที่พบ : ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย : กว่า 1,000 ปี

ความเป็นมาและความสำคัญ

โบราณสถานวัดพระเมรุ (ร้าง) ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม เป็นโบราณสถานเก่าแก่ขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ เมืองนครปฐมโบราณ ลักษณะของโบราณสถานวัดพระเมรุเดิม เป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีสภาพเสียหายเป็นอย่างมากพบร่องรอยการพังทลายลงตามเวลาและจากการขุดรื้อทำลายโดยมีตำนานเล่าเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระเมรุว่า ตามตำนานมีปู่โสมที่เฝ้าปกป้องรักษาโพรงที่ชาวบ้านลักลอบขุดกรุภายในวัดพระเมรุร้างแห่งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอุโมงค์ที่สามารถลอดทะลุไปยังบริเวณวัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐมได้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานนามโบราณสถานนี้ว่า วัดพระเมรุ จากลักษณะสัณฐานเดิมที่มีแต่ส่วนของฐานเป็นซากอิฐหักพัง ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนี้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่นี้เคยเป็นพระเมรุของพระมหา-กษัตริย์ในสมัยโบราณ ก่อนการขุดค้นของกรมศิลปากร ได้มีการรื้อทำลายโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขุดค้นหาสมบัติ การนำอิฐไปถมเป็นถนน และการขนอิฐไปสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศดำเนินการขุดศึกษาโบราณสถานวัดพระเมรุ ใน พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2482 ในความดูแลของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส จากการขุดศึกษาและพบหลักฐานที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีงานก่อสร้างตั้งแต่คราวแรกสร้างไปจนถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก่อนมีการละทิ้งโบราณสถานแห่งนี้อย่างน้อย 3 ระยะ
โดยสภาพปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานที่ก่อด้วยอิฐในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่ส่วนมุมและส่วนด้านทั้งสี่ ขนาดความกว้างยาวด้านละประมาณ 70 เมตร ทำบันไดอยู่กึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน พื้นที่ภายในยังคงเหลือหลักฐานโครงสร้างของแกนกลางรูปแท่งสี่เหลี่ยมรับน้ำหนักองค์ ประกอบส่วนบนที่เป็นสถูปเจดีย์ ตรงกลางด้านของแกนกลางนี้มีฐานไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่ 4 องค์ รวมถึงยังคงเหลือหลักฐานองค์ประกอบของระเบียงคดและทางเดินรอบแกนกลาง และมีซุ้มรายรอบจำนวน 16 ซุ้ม ส่วนนอกสุดมีลักษณะเป็นมุขยื่นออกไป 8 มุข ซึ่งมีอัฒจันทร์และบันไดนำขึ้นสู่ภายในอาคาร
ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ ได้อธิบายเปรียบเทียบแผนผังของโบราณสถานวัดพระเมรุกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกามและศาสนสถานแบบปยู ในประเทศพม่า ซึ่งมีการทำแกนกลางรองรับเครื่องบนและพระพุทธรูปประดิษฐาน 4 องค์ ตรงกลางในแต่ละด้านของแกนนั้นคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ความสำคัญของโบราณสถานวัดพระเมรุยังแสดงออกผ่านประติมากรรมพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทปางประทานธรรม ทำจากหินสีขาวและหินสีเทาขนาดใหญ่ ต่อมาเรียกกันว่า พระพุทธศิลาขาว
ปัจจุบันพระพุทธรูปที่พบประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ ได้แก่ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร 2 องค์ คือ พระประธานภายในพระอุโบสถ 1 องค์ และบริเวณทางขึ้นลานประทักษิณด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์อีก 1 องค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 1 องค์ และวัด-หน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพระเมรุ (ร้าง) ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 วันที่ 4 มีนาคม 2474 และดำเนินการบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ ในพ.ศ. 2527 ถึงพ.ศ. 2528 ต่อมากรมศิลปากรได้มีการบูรณะโบราณสถานวัดพระเมรุอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นได้ดำเนินการบูรณะและปรับสภาพภูมิทัศน์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2562

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร.(2542).พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ธนิต อยู่โพธิ์.(2510).พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารดี. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร.
ธิดา สาระยา.(2531).จากชายขอบของรัฐทวารวดึ ถึงเมืองหน้าด่านในประวัติศาสตร์ยุคหลัง. เมืองโบราณ.
ธีระ แก้วประจันทร์.(2537).พัฒนาการเมืองนครปฐมในสมัยรัชกาลที่ ๔-๗ และข้อคิดเห็นบางประการในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครปฐม.เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติของสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม ชุดนครปฐมศึกษาครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๙
น. ณ ปากน้ำ.(2517). ศาสนาและศิลปะในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
นุกูล ชมภูนิช.(2537).วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี. รายงานการวิจัยของสถาบันราชภัฏนครปฐม.
ผาสุก อิทราวุธ.ทวารวดี.(2542).การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย.
ไพจิตร ปอศรี.(2539).ประวัติศาสตร์เมืองนครปฐมสมัยพุทธกาล-ธนบุรี. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติของสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม ชุดนครปฐมศึกษา ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๙
หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล.(2535). ศิลปะในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 9).กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัฒนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล.(2535). ประวัติศาสตร์ เอเซียอาคเนย์ถึง พ ศ. 2000 .กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัฒนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์.(2481).วัดพระเมรุ.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.(2480). เล่าเรื่องไปชะวา ครั้งที่ 3 นับเป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 67.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.(2489) เรื่องเที่ยวเมืองพม่า.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.(2513). สาสน์สมเด็จ เล่ม 5 (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา.
Pierre Dupont.(1959).L'archéologie moné de Dvavarat .Pars : Publications de l'Ecole française d'Extrême-Orient.