โบราณวัตถุ

ธรรมจักร

ธรรมจักร

ธรรมจักรเป็นการสื่อความหมายถึงกงล้อด้วยลักษณะที่เหมือนล้อรถเป็นส่วนประกอบหนึ่งของราชรถหรือเกวียน ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าการหมุนไปข้างหน้าดังนั้นธรรมจักรก็เหมือน พระธรรมที่หมุนไปข้างหน้า เดินหน้าเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ธรรมจักรซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมนั้น ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของดวงอาทิตย์อีกด้วยเนื่องจากลักษณะของธรรมจักรมีลักษณะเป็นวงกลม มีรัศมีแฉกเป็นเส้นไปทุกทิศทุกทาง ซึ่งหมายถึงการเปล่งรัศมี การแสดงอำนาจไปทุกทิศทุกทาง ดังนั้นธรรมจักรบางชิ้นจึงมีการสลักรูปพระสุริยะไว้ด้วยเช่นกัน
ธรรมจักร เป็นงานศิลปะของไทยที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง จนอาจพูดได้ว่าธรรมจักรก็เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยทวารวดี ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจถือได้ว่าธรรมจักรเป็นประจักษ์พยานอันแท้จริงของการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมและการเมืองของอาณาจักรทวารวดี เนื่องจากพบปรากฏอยู่ในช่วงเวลาและบริเวณที่ค่อนข้างจำกัด
ธรรมจักรเป็นงานศิลปกรรมที่พบกระจายอยู่หลายแห่งตามเมืองโบราณหรือศาสนสถานสมัยทวารวดี โดยวัสดุที่ใช้สลักธรรมจักรเป็นหินตระกูลหินปูนหรือหินทรายและศิลาแดง ซึ่งศิลาแดงจะพบได้น้อยมีขนาดใหญ่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 เมตร และขนาดเล็กสุดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 45 เซนติเมตร
ในบรรดาแหล่งโบราณสถานและเมืองโบราณที่พบทั้งหมดนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบธรรมจักรศิลาจากเมืองโบราณนครปฐมเป็นจำนวนมากที่สุด คือ มีวงธรรมจักรที่สมบูรณ์กว่า 20 วง และชิ้นส่วนวงธรรมจักรที่แตกหักอีกจำนวนหนึ่ง ธรรมจักรเหล่านี้มีลวดลายที่ค่อนข้างประณีตสวยงามกว่าแหล่งอื่น ๆ จึงถือเป็นวัตถุโบราณชิ้นเด่น และด้วยความที่มีคุณค่าทางศิลปะสูง กรมศิลปากรจึงมีการประกาศควบคุมการทำเทียมโบราณวัตถุ เมื่อ พ.ศ. 2541 ซึ่งมีโบราณวัตถุที่ควบคุม 9 รายการ จึงประกาศควบคุมการทำเทียมธรรมจักรจากวัดเสน่หา ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมด้วย

จารึกพระธรรมบนธรรมจักร

ธรรมจักรสมัยทวารวดีที่พบในไทยนั้น บางวงมีการจารึกหลักธรรมเอาไว้ด้วย โดยส่วนมากเป็นอักษรปัลลวะ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12) ภาษาบาลี เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำมาจากพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการรู้แจ้งในอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท การพึ่งพาของสิ่งทั้งหลายที่อาศัยกันและกัน รวมถึงคาถา "เยธมมา" อันเป็นหัวใจของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย
ธรรมจักรที่มีอักษรจารึกหลักสำคัญที่พบในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ ธรรมจักรที่ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งมีอักษรจารึกที่คัดมาจาก "ธัมมจักกับปวัตตนสูตร" โดยจารึกที่บริเวณดุมล้อด้านใน แปลได้ว่า
"..จักรคือพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงแสดงไว้ 4 อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้ง 4 อย่างหมุนวนครบ 3 รอบเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ มีอาการ 12 อย่าง(ทวาทสาการัง)... "
ส่วนดุมล้อด้านนอกแปลได้ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมุนวงล้อของธรรมจักรหมุนเวียน 3 รอบ มีอาการ 12..." นอกจากนี้ จารึกข้อความที่วงล้อ แปลได้ว่า "...สัจจญาณกิจจญาณ และกตญาณ หมายถึง หยั่งรู้เกี่ยวกับความจริงเกี่ยวกับกิจที่ต้องทำและเกี่ยวกับกิจที่ได้ทำแล้ว... " ส่วนข้อความบนซี่กงล้อ ( 15 ซี่) กล่าวถึงความรู้แจ้งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
จารึกดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สัญลักษณ์ของธรรมจักรแทนความหมายของการหมุนวงล้อแห่งธรรมในการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี

ความหมายและลวดลายประดับ

วงธรรมจักรเป็นงานสลักด้วยหินตระกูลหินปูนหรือหินทรายมีลักษณะเป็นวงกลมตรงกลางสลักเป็นดุมคล้ายล้อเกวียน โดยมีซี่กงล้อ (กำ) จำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งจะมี 8, 12, 16 จนถึง 32 ซี่
ซี่กงล้อธรรมจักรที่ต่อกับขอบด้านนอกนิยมทำลวดลายคล้ายหัวเสาแบบไอโอนิค ธรรมจักรบางวงสลับเจาะเป็นช่องว่างระหว่างซี่ล้อซึ่งจะพบได้น้อยแต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบทึบคือเจาะไม่ทะลุ ขอบนอกสุดของวงธรรมจักรส่วนใหญ่สลักเป็นขอบวงล้อที่มีลวดลายสลับอย่างสวยงามโดยมีลักษณะที่ต่างกันไป
ส่วนใหญ่เป็นลายดอกกลมสลับลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ลายก้านขดสลับรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ลายพรรณพฤกษาแบบกนกผักกูดรูปแบบต่างๆ รวมถึงลายกลีบบัวเรียงขนาดกันที่เรียกว่า ลายบัวรวนที่ขอบวงนอก ลวดลายสลักตกแต่งในส่วนสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งของวงธรรมจักรสมัยทวารวดีก็คือที่ฐานของธรรมจักรตกแต่งด้วยภาพบุคคลและสัตว์หรือลายมงคลหลายรูปแบบ เช่น
• รูปพระสุริยเทพสลักเป็นภาพบุคคลเพศชายสวมศิราภรณ์ประทับนั่งพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างถือดอกบัวที่ชูช่อขึ้น ซึ่งเป็นรูปลักษณะเฉพาะของสุริยเทพภาพเช่นนี้หมายถึงการตื่นรู้จากกิเลสตัณหาทั้งปวงคือการตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐตลอดจนแสงสว่างแห่งธรรมะนั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด
• รูปคชลักษมี สลักเป็นรูปเทพสตรี ประทับนั่งอยู่ระหว่างช้าง 2 เชือกที่ทำท่าชูงวงถือหม้อน้ำรดใส่ร่างของพระนางลักษมี ภาพเช่นนี้แสดงถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความมีโชคลาภภาพลักษณะเช่นนี้ในทางพุทธศาสนายุคแรกหมายถึงการประสูติของพระพุทธองค์
• รูปหน้ากาลหรือเกียรติมุข สื่อถึงการป้องกัน สิ่งชั่วร้ายรวมทั้งอาจหมายถึงความไม่ยั่งยืน
• รูปกลีบบัวแสดงถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์หรือปัญญาอันเกิดจากการตรัสรู้
ชิ้นส่วนวงธรรมจักรที่ เเตกชำรุดพบที่จังหวัดนครปฐมปัจจุบันเก็บไว้ในห้องคลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ชิ้นส่วนภาพสลักบริเวณฐานวงธรรมจักร พบในจังหวัดนครปฐม ปัจจุบันเก็บไว้ในห้องคลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

ธรรมจักร และกวางหมอบ

สถานที่พบ/ประวัติ : พบที่วัดเสน่หา(ร้าง) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลประทานยืมให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 105 เชนติเมตร
รายละเอียดอื่น : ธรรมจักรวงนี้ สลักเป็นแบบมีซี่โปร่ง 15 ซี่ สิ่งสำคัญคือ มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกอยู่ที่ดุมล้อ รวมถึงที่ซี่กำแต่ละซี่ มีเนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมคัดมาจากธัมมจักกับปวัตตนะสุตตะ)
นัยปิฎก มหาวรรค กล่าวถึงการหมุนวงล้อแห่งธรรม

ธรรมจักร และกวางหมอบ

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 221 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นธรรมจักรที่มีขนาดวงใหญ่ที่สุดที่พบในไทย ลักษณะของซี่กงล้อสลัก แบบช่องทึบ ไม่เจาะทะลุ สภาพที่พบค่อนข้างชำรุดไม่ครบวง แต่ทางกรมศิลปากรได้ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเต็มวง ซึ่งสามารถศึกษาได้จากเนื้อหินเดิมที่มีสีต่างออกไปจากปูนที่ซ่อม ขึ้นมาใหม่ ส่วนกวางหมอบก็อยู่ในลักษณะหมอบราบ หันหัวเอี้ยวมองไปทางด้านหลัง

ธรรมจักรสลักลายคชลักษมี

สถานที่พบ/ประวัติ: พบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ (เลขทะเบียน 624/2519)
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 73 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : สันนิษฐานว่าเป็นธรรมจักรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็นธรรมจักรที่ไม่ครบสมบูรณ์ สลักซี่กำแบบทึบ มีลวดลายทั้ง 2 ด้าน ที่ส่วนด้านล่างสลักเป็นรูปเทวสตรีอยู่ระหว่างช้าง 2 เชือก ที่ทำรดน้ำอภิเษก ภาพเช่นนี้เรียกกันว่า "คชลักษมี หรือ อภิเษกศรี" อันเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดอันบริสุทธิ์ การเริ่มต้นอันเป็นมงคล ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการตีความว่าอาจหมายถึงปางประสูติของพระพุทธองค์อีกด้วยเป็นธรรมจักรในพุทธศตวรรษที่ 12-16 สมัยทวารวดี

ธรรมจักรพร้อมเสา และกวางหมอบ

สถานที่พบ/ประวัติ: ตามประวัติว่า ขุดพบเมื่อราว พ.ศ. 2496 ที่โบราณสถานเนินพระ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยค้นพบทั้งวงธรรมจักร เสา และกวางหมอบ แต่ไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่าพบในลักษณะเช่นใด
ปัจจุบันอยู่ที่ : ธรรมจักรและเสาอยู่ในศาลาภายในวัดดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ส่วนกวางหมอบ ปัจจุบันอยู่ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คลองห้า (รายละเอียดของเสา และกวางหมอบในลำดับถัดไป)
รายละเอียดอื่น : ธรรมจักรวงนี้ พบอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ พบเพียงชิ้นส่วนไม่มากนัก แต่ได้มีการซ่อมแซมด้วยปูนจนสมบูรณ์

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : ด้านหน้าภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดพระปฐมเจดีย์
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 101 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นธรรมจักรวงกลม มีซี่กงล้อ 16 ซี่ ระหว่างซี่กงสลักแบบทึบ ตรงดุมกลางเจาะเป็นช่องกลม ด้านล่างที่ฐานสลักเป็นลายกระหนกวงโค้งและกระหนกผักกูด

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : ด้านหน้าภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดพระปฐมเจดีย์
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นธรรมจักรวงกลม มีซี่กำ 21 ซี่ ระหว่างสลักทึบ ด้านล่างเป็นลายกลีบบัวหงาย

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 627/2519)
ขนาด : สูง 70 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 66 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น :ธรรมจักรวงนี้เป็นธรรมจักรพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 สมัยทวารวดี สลักแบบมีซี่ทึบ ไม่ได้เจาะช่องโปร่ง มีจำนวนซี่ราว 17 ซี่ (บางซี่ถูกฐานรูปบุคคลทับอยู่) ที่ฐานล่างมีรูปบุคคลนั่ง มือทั้งสองถือดอกบัวยกชูขึ้นระดับศีรษะ สันนิษฐานว่า อาจหมายถึงพระสุริยะ (ที่รูปปรากฎจะทำเป็นรูปบุคคลถือดอกบัวทั้งสองพระหัตถ์)

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 638/2519)
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 103 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น :วงธรรมจักรศิลา มีซี่กงล้อ 32 ซี่ สลักแบบซี่ทึบ ด้านล่างทำเป็นแกนยื่นเจาะของสี่เหลี่ยม แต่เดิมอาจใช้ประกอบกับประติมากรรม บางอย่าง

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 11/24)
ขนาด : สูง 123.7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 97 เชนติเมตร
รายละเอียดอื่น :ธรรมจักรศิลา มีซี่ 22 ซี่ สลักแบบซี่ทึบ ที่ฐานล่างสลักเป็นลายพรรณพฤกษาในกรอบสามเหลี่ยมโค้งด้านบน เป็นธรรมจักรพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 สมัยทวารวดี

ธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 633/2519)
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 96 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น :ธรรมจักรศิลา สลักซี่วงล้อ 16 ซี่ ด้านล่างสลักเป็นทรงโค้งคล้ายกลีบบัวหงายเป็นแบบกลีบบัวยาวหลายกลีบ ในกรอบทรงโค้ง

ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลาแลง (ชำรุด)

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 776/2519)
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลางราว 42 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นชิ้นส่วนวงธรรมจักร สลักจากศิลาแลง ซึ่งพบน้อย ลักษณะคล้ายเป็นโกลนที่ไม่มีลายสลักตกแต่งใด ๆ

เสาธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบที่โบราณสถานเนินพระ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : วัดดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
รายละเอียดอื่น : เป็นเสาทรงแปดเหลี่ยม ส่วนปลายบนสลักเป็นแท่นสี่เหลี่ยมสลักลวดลายพรรณพฤกษา ด้านบนสุดทำเป็นง่ามหิน 2 ซีก (คงเพื่อใช้ต่อกับวงธรรมจักรด้านบน)

เสาธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(เลขทะเบียน 625/2519)
ขนาด : สูง 207 เซนติเมตร กว้าง 18.5 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นเสาทรงแปดเหลี่ยม ส่วนปลายบนสลักเป็นแท่นสี่เหลี่ยมสลักลาย เพื่อต่อเชื่อมกับฐานศิลาที่จะรองรับธรรมจักร

กวางหมอบ

สถานที่พบ/ประวัติ: ตามประวัติว่าพบที่ดอนยายหอม (เข้าใจว่าเป็นที่โบราณสถานเนินพระ) จังหวัดนครปฐม พระกล้ากลางสมรข้าหลวงส่งมาให้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2479
ปัจจุบันอยู่ที่ : คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ขนาด : สูง 22 เชนติเมตร ยาว 29.5 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : ประติมากรรมกวางหิน อยู่ในท่าหมอบหันหัวย้อนกลับไปทางด้านหลัง

กวางหมอบ

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 777/2519)
กว้าง 10.5 เซนติเมตร ยาว 16.5 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นประติมากรรมรูปกวางอยู่ในท่าหมอบ อยู่บนฐานทรงสี่เหลี่ยม รูปกวางทำท่าหันหัวเหลียวกลับมองไปด้านหลัง

ฐานหินรองรับธรรมจักร
สลักภาพวิมานพระสุริยะ

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ขนาด : สูง 170 เชนติเมตร
รายละเอียดอื่น : ด้านล่างเป็นชิ้นส่วนเสา (สตัมภะ) ที่มีลายเฟื่องอุบะห้อยประดับอย่างงดงามส่วนตัวฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยม สลักลายเป็นรูปชั้นวิมานจำลอง โดยทำเป็นรูปกุฑุ (ซุ้มวงโค้งเกือกม้า) ภายในมีรูปใบหน้าบุคคลอยู่ภายใน ฐานศิลาชิ้นนี้มีนักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจหมายถึงวิมานของพระสุริยะ หรือบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ฐานรองรับธรรมจักร สลักเรื่องการแสดงปฐมเทศนา

สถานที่พบ/ประวัติ: พบที่วัดไทร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 635/2519)
ขนาด : สูง 61 เซนติเมตร ยาว 111 เมตร
รายละเอียดอื่น :ประติมากรรมชิ้นนี้มีสภาพไม่สมบูรณ์ เหลือเพียงเสี้ยวเดียว สลักเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาแสดงปางแสดงธรรม ด้านข้างมีรูปพราหมณ์หรือนักบวชอยู่ด้านหนึ่ง (อาจหมายถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5) ส่วนอีกด้านเป็นรูปภิกษุ (ศีรษะโล้น) 5 องค์ นั่งพนมมือ จึงมีการสันนิษฐานกันว่า อาจเป็นเหตุการณ์ครั้งพระพุทธองค์แสดงปฐมเทศนา โดยแสดงภาพปัญจวัคคีย์ก่อนบรรลุธรรมอยู่ด้านหนึ่ง และรูปพระภิกษุทั้งห้าอาจได้แก่ กลุ่มปัญจวัคคีย์ภายหลังจากการบรรลุโพธิธรรมแล้ว

ฐานรองรับธรรมจักร

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 916/2519)
กว้าง 57 เชนติเมตร ยาว 69 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นแท่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านนอกสลักเป็นลายพรรณพฤกษาแบบกนกผักกูดด้านบนที่มุมมีการเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมที่มุมทั้งสี่ ซึ่งอาจใช้เป็นที่ตั้งกวางหมอบ

ฐานรองรับธรรมจักร สลักรูปนรสิงห์

สถานที่พบ/ประวัติ: พบในเขตจังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันอยู่ที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
(เลขทะเบียน 633/2519)
กว้าง 43 เซนติเมตร ยาว 67 เซนติเมตร
รายละเอียดอื่น : เป็นแท่งหินทรงสี่เหลี่ยม ด้านบนเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านนอกสลักลายรูปนรสิงห์นั่งชันเข่า อยู่ท่ามกลางลายกนกผักกูดที่มุมทั้งสี่

บรรณานุกรม

พนมกร นวเสลา. ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.สัมภาษณ์. 14 ตุลาคม 2566
ฌอง บวสเซอลิเยร์ (แปลโดยบุตรี สุวรรณะบุณย์), “สกุลช่างศิลปะทวารวดี,” ใน ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา (CEDREFT), นครปฐมศึกษาในฝรั่งเศส : รวมบทความแปล (นครปฐม:รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977),2552),หน้า 155 กรมศิลปากร. (2563). ปกิณกศิลปวัฒนธรรม. เล่ม26. นครปฐม.