ตาเถร ยายชี

การปั้นหุ่นตาเถร ยายชี

การปั้นหุ่นตาเถร ยายชี

นับเป็นทุนวัฒนธรรมประเภทงานช่างฝีมือดั้งเดิม (Traditional Craftsmanship) ของชาวดอนยายหอม ซึ่งใช้ในประเพณีการแห่นางแมว โดยการปั้นตาเถร ยายชี ทำเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม ภายในตำบลดอน-ยายหอมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย นอกจากยายหอมตามตำนานพระยากง พระยาพานแล้วนั้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่ง คือแม่ย่าบางยาง' หรือ เจ้าย่า-บางยาง ศาลเจ้าย่าบางยางเป็นศาล ทรงไทย เป็นที่เคารพศรัทธา สักการะบูชาของชาวดอนยายหอมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปีชาวบ้านในพื้นที่จะบูชาสักการะเจ้าย่าบางยางปีละ 1 ครั้ง เรียกว่า งานประจำปีศาล เจ้าย่าบางยาง ทั้งนี้เจ้าย่าบางยางเปรียบเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอบช่วยเหลือชาวบ้านดอนยายหอมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องของการขอฝน เนื่องจากในอดีตชาวดอนยายหอมประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อปีไหนที่เกิดภาวะแห้งแล้งชาวบ้านจะต้องทำการขอฝนจากเจ้าย่าบางยาง แล้วทุกครั้งฝนก็จะตกลงมาทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม ในการจัดงานประจำปีจะจัดในช่วงวันพุธและพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน 6 ในทุกปี หากในปีไหนที่มี เดือน 8 สองหน จะทำการจัดงานในช่วงเดือน 7 แทน
สำหรับขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมนั้นในช่วงเช้าของวันพุธจะทำการปั้นตาเถร ยายชี โดยหุ่นตาเถร ยายชี จะถูกปั้นเป็นรูปชายกับหญิงมีเพศสัมพันธ์กันในที่แจ้งโดยชาวบ้านมีความเชื่อว่ากำลังประพฤติสิ่งไม่หมาะสม เป็นสิ่งสกปรกชั่วร้าย ฟ้าฝนจะโปรยลงมาชำระล้างให้สะอาดปราศจากความสกปรกในพิธีกรรมจะจัดสำรับอาหารคาวหวาน หมากพลู และบุหรี่ เซ่นสังเวยเชิญดวงวิญญาณตาเถร ยายซี มายังหุ่นที่ปั้นเอาไว้ หลังจากนั้นนำไม้สลักที่สลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายหรือที่เรียกว่า “ปลัดขิก” ลงมาจากศาลท่านขุน เพื่อใช้ในการแห่นางแมว ในช่วงสายจะจับแมวสีสวาดใส่ในตะข้องแล้วแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน มีการขับกล่อมบทแห่นางแมวเข้ากับจังหวะเครื่องดนตรีไปรอบๆเมื่อร้องบทแห่นางแมวจบชาวบ้านผู้เข้าร่วมพิธีจะนำปลัดขิกกระทุ้งไปยังบ้านเรือนในรอบๆหมู่บ้านเพื่อเป็นการก่อกวนให้เทวดาประจำบ้านต่างๆ โกรธและบันดาลให้ฝนตกลงมาเมื่อแห่นางแมวรอบหมู่บ้านเสร็จในช่วงเย็นจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น จากนั้นในช่วงเข้าวันพฤหัสบดีมีการถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ 9 รูป และนำปลัดขิกขึ้นไว้บนศาลยังที่เดิมเป็นการเสร็จพิธี ในช่วงเวลา 3 วัน หลังจากทำการแห่นางแมวหากฝนตกถือว่าพิธีสำเร็จ หากฝนไม่ตกชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อที่จะมาเฆี่ยนรูปปั้นตาเถร ยายซี โดยใช้ไม้เรียวฟาดไปยังหุ่นเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดเป็นการทำให้วิญญาณ ตาเถร ยายซี โกรธและบันดาลฝนมาในที่สุดี

ความเป็นมาและตำนานตาเถร ยายชี

นั้นเล่ากันมาว่า ตาเถร อยู่ระหว่างพระกับเณร แสดงว่าเถรนั้นต่ำกว่าพระและสูงกว่าเณร ตามความที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสอบถามสมเด็จพระสังฆราช ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ท่านกล่าวว่า เถร เป็นพวกครึ่งพระครึ่งเณร อาศัยวัดอยู่ตามศาลามุขหน้าโบสถ์ หลังโบสถ์ พระระเบียงหรือพะเพิงอะไรตามแต่จะหาได้ โดยมากพึ่งพระสงฆ์ขอผ้า และอาหารที่เหลือไปบริโภค ทำการให้แต่พระสงฆ์ตามสมัครใจ ศีลนั้นไม่ปรากฏว่าถืออย่างไร อาจเป็นศีลสิบ ศีลแปด ศีลห้าหรือไม่ถือศีลเลยก็ได้ การนุ่งห่มนั้นใช้ผ้าเหลืองตามแต่จะหาได้ บางคนก็นุ่งแต่ผ้าอาบหรือสบงเท่านั้น หรือมีผ้าห่มพาดบ่าอย่างที่เรียกว่าพาดควายก็มี และมีไตรจีวรครองเหมือนพระสงฆ์ก็มี ความประพฤติเอาแน่ไม่ได้ ที่ดีเหมือนพระภิกษุก็มีคนเคารพนับถือ ที่เลวถึงสูบกัญชาก็ไม่มีคนนับถือ แต่ก่อนมีที่วัดสระเกศมากกว่าที่อื่น เหตุที่พวกตาเถรถือศีลไม่มีกำหนดเหมือนพวกยายชีนุ่งห่มก็ไม่มีระเบียบเพียงแต่ตาเถรใช้ผ้าเหลือง ยายชีใช้ผ้าขาว อาศัยวัดเหมือนกัน ตาเถรเป็นชาย ยายชีเป็นหญิง จึงมีนิทานตาเถรกับยายชีเล่ากันเป็นที่ครื้นเครง และด้วยเหตุที่ตาเถรมีรูปเป็นภิกษุ แต่ไม่มีศีลเท่าภิกษุและแก่เกินเณรทางกฎหมายจึงวางไว้ระหว่างภิกษุกับเณร ใช้คำติดกันว่าพระภิษุสงฆ์เถร บางทีจะเกิดเพราะบวชเป็นเณรแล้วไม่บวชเป็นพระเมื่ออายุครบแต่ไม่สึก หรือบวชเป็นพระแล้วประพฤติตัวเหลวไหลจึงเลื่อนลงเป็นเถร อย่างเสภาเรื่องเถรสังของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ที่แต่งไว้ว่า “กล่าวถึงเถรสังบางกระจะบวชเป็นพระแล้วเลื่อนลงเป็นเถร” (ที่มาศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ส. พลายน้อย วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564) ขบวนการ “พระศรีอาริย์” กับ “ผู้มีบุญ” (หรือ “ผีบุญ”) ในสยามประเทศ มีมาช้านานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีใครสนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ร่องรอยของขบวนการเหล่านี้อาจเห็นร่องรอยได้จากบรรดา “ถ้ำโพธิสัตว์” เช่นที่ ทับกวาง จังหวัดสระบุรี แม้ปราสาทเขาพนมรุ้งของ “ฤาษี” ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มนี้ (ศิลปวัฒนธรรม, 2565)

คุณค่าความเชื่อตาเถร ยายชี

หุ่นปั้นตาเถร ยายชีเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเชื่อว่า ตาเถรกับยายชีกำลังประพฤติสิ่งไม่หมาะสม เสพสมกันกลางแจ้ง เป็นสิ่งสกปรกชั่วร้าย ฟ้าฝนจะโปรยลงมาชำระล้างให้สะอาดปราศจากความสกปรกในพิธีกรรมแห่นางแมว ดังนั้นเมื่อผู้คนในชุมชนเห็นหุ่นปั้นนี้ทุกคนก็จะพึงระลึกว่า หุ่นนี้กำลังทำสิ่งที่ไม่ เหมาะสม ผิดศีล เป็นการกระตุ้นเตือนคนในชุมชน ให้รู้ถึงการประพฤติตนของตนว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ