กระยาสารท

ชุมชนดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ขนมกระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่ กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้
สำหรับการกวนกระยาสารทนั้น ต้องใช้เวลาและแรงคนหลายๆ คนจึงจะทำเสร็จได้ ดังนั้นการกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
วันสารทไทย ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลทำบุญเดือน 10 ของไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณตามหลักฐานพบว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สารทเป็นคำที่มาจากภาษาอินเดีย แปลว่า ฤดู ซึ่งฤดูสารทนี้เป็นฤดูที่ต้นไม้เริ่มออกผล เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผู้ที่ต้องการให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของตนเจริญงอกงามดี ก็ได้นำพืชพันธุ์เหล่านั้นไปถวายสิ่งที่ตนนับถือสารท (สาด) นี้ เป็นคำที่เรายืมอินเดียมาใช้ทั้งคำ แต่อินเดียจะออกเสียงว่า สา-ระ-ทะ และไม่ได้ใช้เรียกเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อของฤดูกาลในประเทศอินเดียอีกด้วย ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงเดือน 10-12 ตามปฏิทินจันทรคติของที่ทำในเทศกาลสารทถวายพระสงฆ์นี้ เรียกว่า "กระยาสารท" แปลว่า "อาหารที่ทำให้ฤดูสารท" กระยาสารทนี้สืบเนื่องมาจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย ใช้ข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน และไม่กำหนดว่าทำเฉพาะฤดูสารท บางทีเขาทำกินกันเอง เช่น นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้าก็เป็นเวลาเดือนหก ประเพณีการทำบุญวันสารทเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย