โบราณสถาน

เนินพระ ดอนยายหอม

โบราณสถานเนินพระ ดอนยายหอม

พบ “เนินพระ” เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ในสมัยทวราวดี ตั้งอยู่นอกบริเวณวัดห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตรเศษลักษณะของเนินพระเป็นเนินดินกว้างสูงประมาณ 8 เมตร ซึ่งเนินดินนี้ปกคลุมไปด้วยซากเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐมอญยองของเจดีย์หักโค่นไปครึ่งองค์พื้นที่บริเวณดังกล่าว ปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่และจากการขุดแต่งองเจดีย์พบว่าเป็นเจดี สมัยทวาราวดี
เป็นโบราณสถานที่มีร่องรอยของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยทวารวดี และเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ชาวบ้านในพื้นที่นิยม เรียกว่า “เนินพระ” โบราณสถานแห่งนี้มีการผูกโยงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตำนานพระยากง พระยาพาน ซึ่งเป็นตำนานท้องถิ่นในพื้นที่นครปฐมและปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับตาปะขาวรอต กล่าวถึงบริเวณเนินพระว่าเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของยายหอม ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูพระยาพานจนเติบใหญ่ ต่อมาพระยาพานสั่งฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตนเอง โทษฐานที่ไม่บอกให้ทราบว่าพระยากงเป็นพระราชบิดา จนพระองค์ได้กระทำปิตุฆาต โดยสถานที่ที่ฆ่ายายหอมนั้นเรียกกันว่า บ้านยายหอมหรือโคกยายหอม เชื่อกันว่าคือบริเวณโบราณสถานเนินพระในปัจจุบัน (กรมศิลปากร, 2562) ทั้งนี้จากตำนานพระยากง พระยาพาน และยายหอมที่คนในชุมชนเล่าขานสืบต่อกันมานั้น เป็นการอธิบายความเป็นมาของโบราณสถานเหล่านี้ สันนิษฐานว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่แล้วและคนรุ่นหลังในพื้นที่ก็เอามาผูกเป็นตำนานเรื่องเล่า ทั้งนี้ตำนานพระยากง พระยาพานอาจได้รับอิทธิพลมาจากชื่อของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคติของทวารวดี คือพระกฤษณะหรือพระพาน (พระกฤษณะในวัยเยาว์) (พนมกร นวเสลา, 2566 : สัมภาษณ์) ภายหลังโบราณสถานเนินพระถูกทิ้งรกร้างและปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ จนใน พ.ศ. 2479 หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ หรือ พระราชธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้นำชาวบ้านมาขุดเอาซากอิฐที่แตกหักบริเวณรอบ ๆ โบราณสถานเนินพระ เพื่อนำไปเป็นอิฐฐานรากของ พระอุโบสถ ที่กำลังก่อสร้างของวัดดอนยายหอมในขณะนั้น เมื่อขุดลึกลงไปปรากฏพบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสาญจีเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนบนของเสามีง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระงาม วัดพระประโทณ และพระราชวังสนามจันทร์ ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณคดีโบราณสถานเนินพระ ใน พ.ศ. 2480 โดยศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และกรมศิลปากรได้มีการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน แห่งนี้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2515 จากการขุดค้นพบว่ามีลักษณะเป็นสถูปสมัยทวารวดี ก่อสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะเป็นฐานอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำบันไดยื่นออกมา เป็นมุขทั้งสี่ด้าน ส่วนบนเหนือฐานขึ้นไปได้พังทลายลงจึงไม่สามารถทราบรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนได้
โบราณวัตถุที่พบในโบราณสถานเนินพระ ได้แก่ กวางหมอบทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ เสารองรับธรรมจักร 2 อันและพระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่อยู่ในสภาพที่หักพัง ปัจจุบันเสาศิลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูป เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากการขุดค้นในหลายช่วงเวลาทำให้ไม่ทราบตำแหน่งดั้งเดิมของหลักฐานว่าตั้งอยู่ที่จุดใดของโบราณสถานแห่งนี้แต่จากโบราณวัตถุที่ค้นพบจึงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าเดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่าและตัวเนินคงเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ที่อยู่ภายในบริเวณวัดตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนหน้านั้น และมีอายุกว่า 1,000 ปี มาแล้ว
ต่อมากรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเนินพระในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 สำหรับโบราณวัตถุที่พบในโบราณสถานเนินพระบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดดอนยายหอมและโบราณวัตถุบางส่วนนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (กรมศิลปากร, 2562)

บรรณานุกรม

นุกุล ชมภูนิช และ นายสัญญา สุดล้ำเลิศ.//สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในจังหวัดนครปฐม.//สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครปฐม.//2556.
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทยกรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒