โบราณสถาน

วัดพระงาม

สถานที่พบ : ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
อายุสมัย : กว่า 1,000 ปี

ความเป็นมาและความสำคัญ

โบราณสถานวัดพระงาม หรือที่เรียกกันว่า เขาวัดพระงาม ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดพระงามพระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางด้านนอกเมืองโบราณนครปฐมลักษณะของโบราณสถานวัดพระงามเป็นเนินดินขนาดใหญ่มีการพังทลายลงตามเวลา โบราณสถานแห่งนี้ได้มีการสำรวจในช่วงปี พ.ศ.2434 ถึง พ.ศ.2435 โดยลูเซียง ฟูร์เนอโร(Lucien Fournereau) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงธรรมการของรัฐบาลสยามให้เข้ามาสำรวจเมืองนครปฐม
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทำการสำรวจวัดพระงามแห่งนี้ โดยพบโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปสำริด กวางหมอบ ธรรมจักร พระพิมพ์ดินเผาและเศียรพระพุทธรูปดินเผา โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยทวารวดีที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างมาก และได้รับการยอมรับอย่างมากจากนักวิชาการ และเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ว่าวัดพระงาม ในปัจจุบันเศียรพระพุทธรูปดินเผานี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
โบราณสถานวัดพระงามได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำคัญของชาติ ใน พ.ศ. 2478 ต่อมากรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี มีการขุดศึกษาโบราณสถานวัดพระงามเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาใน พ.ศ. 2562 พบว่าโบราณสถานวัดพระงามมีรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระประโทนเจดีย์ และโบราณสถานเนินพระมีร่องรอยของชั้นอิฐโบราณสมัยทวารวดี อาจกำหนดอายุการก่อสร้างโบราณสถานวัดพระงามในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และจัดเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดีในประเทศไทย
ทั้งนี้มีการขุดพบโบราณวัตถุ เช่นพระพิมพ์ดินเผา ชิ้นส่วนธรรมจักรจำหลักจากหินสีเทา ปูนปั้นดินเผารูปยักษ์ขนาดใหญ่ โดยสันนิษฐานว่าเป็นทวารบาลนั่งอยู่บริเวณทางเข้าศาสนสถานและพบจารึก โดยพบในตำแหน่งบริเวณฐานชั้นล่างสุดทางทิศเหนือของสถูป จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุราว พุทธศตวรรษที่ 12 ปรากฏข้อความสำคัญถึงคำว่า “ทวารวดีวิภูติ” ซึ่งจารึกวัดพระงามนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาทวารวดีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันโบราณวัตถุที่พบจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
สำหรับการดำเนินงานขุดศึกษาพื้นที่โบราณสถานวัดพระงามปัจจุบันได้เปิดพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของเนินดินด้านทิศเหนือทำให้พบสิ่งก่อสร้างที่สันนิษฐานในขณะนี้ว่าเป็นสถูป อยู่ในผัง รูปสี่เหลี่ยม ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 41.50 เมตรสันนิษฐานว่าสถูปสมัยทวารวดีองค์นี้คงเหลือเพียงส่วนฐานถึงส่วนเรือนธาตุเท่านั้นโดยรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์
สำหรับการดำเนินงานขุดศึกษาพื้นที่โบราณสถานวัดพระงามปัจจุบันได้เปิดพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของเนินดินด้านทิศเหนือทำให้พบสิ่งก่อสร้างที่สันนิษฐานในขณะนี้ว่าเป็นสถูป อยู่ในผัง รูปสี่เหลี่ยม ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 41.50 เมตรสันนิษฐานว่าสถูปสมัยทวารวดีองค์นี้คงเหลือเพียงส่วนฐานถึงส่วนเรือนธาตุเท่านั้นโดยรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์

คลองเจดีย์บูชา

วรวุฒิ วีระชิงไชย (อดีตอาจารย์สอนพิเศษมหาวิยาลัยราชภัฏนครปฐมและมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2566) ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับล้วนวัดนครปฐมรวมทั้งประวัติศาสตร์นครปฐมโบราณและคลองเจดีย์บูชา แหล่งอ้างอิงที่ศึกษา คือ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นพระราชวงศ์พระร่วง (ศิลาจารึก หลัก 2 วัดศรีชุม) และการเขียนนิราศของพระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ ที่ได้จารึกนิราศพระประทมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระปฐมเจดีย์ก่อนบูรณะ โดยบันทึกว่าสมัยก่อนที่จะมาเป็นคลองเจดีย์บูชา เคยมีเส้นทางคลองอื่นมาก่อนอยู่แล้วคือเส้นทางลำน้ำบางแก้วที่ไหลตามธรรมชาติทางตะวันตกเฉียงเหนือ เส้นทางของลำน้ำบางแก้วมีลักษณะคดเคี้ยวไหลผ่านเมืองนครปฐมโบราณไปออกแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอนครชัยศรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้ในสมัยทวารวดี
นฤมล บุญญานิตย์ (บรรณารักษ์ดูแลศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2566) กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเดินทางเรือเพื่อไปสำรวจพื้นที่เมืองนครปฐมโบราณ แต่การเดินทางเรือในอดีตนั้นยากลำบากเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปกลับเมืองนครปฐมโบราณเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน การเดินทางในตอนนั้นจะมีทางบกท่านเสด็จด้วยช้างและทางน้ำท่านเสด็จด้วยเรือ ท่านทรงเสด็จออกจากวังแล้วลงเรือขึ้นที่วัดชัยพฤกษ์ คืนแรกท่านได้ไปประทับค้างแรมที่วัดชัยพฤกษ์จังหวัดกรุงเทพมหานคร 1 คืน ขึ้นวันใหม่ท่านก็เสด็จทางเรือไปต่อที่ศาลเจ้าบ้านหลงหวนอำเภอนครชัยศรี วันต่อมาท่านเสด็จทางเรือเพื่อเดินทางต่อ แต่เส้นทางเรือในสมัยก่อนไม่ได้เป็นทางตรง ท่านเสด็จทางเรือจากบ้านหลงหวนล่องเรือทางคลองรอดใต้พระตำหนักปากคลองบางแก้วมาด้านหลังธรรมศาลาต่อท่าพะเนียดไปวัดเกาะวังไทรจนถึงวัดห้วยจระเข้ การเดินทางเรือนั้นเป็นลำน้ำที่คดเคี้ยว
วรวุฒิ วีระชิงไชย (2566) กล่าวว่า เมื่อท่านเสด็จมาถึงเมืองนครปฐมโบราณทรงพบโบราณสถานที่เป็นเนินกองดินเหมือนภูเขาขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 8 เมตร ด้านบนมีเจดีย์ที่เรียกว่าพระประทมเจดีย์ (ประทมหรือบรรทม แปลว่า นอน ปรินิพพาน) มีวิหาร 4 หลัง และเจดีย์ใหญ่น้อยหลายองค์ ที่เคยมีการบูรณะมาก่อน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครปฐมในสมัยโบราณที่มีผู้คนมากราบไหว้โดยตลอด และมีบันทึกในสมุดไทสมัยอยุธยา ดังนั้นท่านทรงอยากจะบูรณะโบราณสถานพระธมเจดีย์ (พระธม แปลว่า ใหญ่ เป็นภาษาขอม) แต่ตอนที่ท่านพบท่านยังไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชสมบัติ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงไปขอให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ให้ช่วยบูรณะโบราณสถานพระธมเจดีย์ แต่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธเนื่องจากสถานที่แห่งนั้นทรงเห็นว่าเป็นป่าไม่มีผู้คนสามารถเข้าไปกราบไหว้บูชาได้ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานกับโบราณสถานพระธมเจดีย์ แห่งนั้นว่าถ้าหากได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้วจะมาบูรณะโบราณสถานพระธมเจดีย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 ถัดมาอีก 1 ปี ใน พ.ศ.2395 จึงโปรดให้ดำเนินการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ขึ้นตามพระราชประสงค์ในการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์นั้น พี่นฤมล บุญญานิตย์ (บรรณารักษ์ดูแลศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2566) กล่าวว่า สมัยก่อนการขนส่งอุปกรณ์การก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์นั้นยากลำบากเนื่องจากเป็นเส้นทางลำน้ำบางแก้วที่คดเคี้ยวและในเดือนหน้าแล้งไม่มีน้ำในการเดินทางเรือ เป็นเส้นทางลำน้ำที่ขาดสายไม่สะดวกต่อการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ บุนนาค) เป็นขุนนางได้อวยยศเทียบเท่าเจ้า (สมเด็จเจ้าพระยา) เป็นแม่กอง ให้ขุดคลองเจดีย์บูชาขึ้นมา เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางเรือ แต่ในขณะเดียวกันท่านขุดคลองเจดีย์บูชาได้เวลา 3 ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2398 ขณะอายุ 67 ปี ด้วยสาเหตุเป็นแผลที่หลังเท้าซ้ายจากการถูกเสี้ยนตำ เป็นพิษลามจนถึงแก่ชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) มีนามว่าสมเด็จเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กอง ให้ขุดคลองตั้งแต่แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรีที่บ้านท่านาไปจนถึงบริเวณ องค์พระปฐมเจดีย์ ผ่านพระราชวังที่พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างใหม่เลยไปจนถึงวัดพระงาม ความยาวทั้งสิ้น 448 เส้น การขุดคลองสายนี้จ้างชาวจีนก่อสร้างและชาวมอญทำอิฐ ใช้เงินทั้งสิ้น 64,363 บาท เพื่อเป็นเส้นทางเรือขนส่งอุปกรณ์ในการก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์และเป็นเส้นทางของประชาชนที่จะเดินทางไปกราบไหว้นมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ตลอดจนใช้เดินทางในชีวิตประจำวันได้สะดวก พี่วรวุฒิ วีระชิงไชย (อดีตอาจารย์สอนพิเศษมหาวิยาลัยราชภัฏนครปฐมและมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2566) กล่าวว่า ราษฎรในบริเวณใกล้เคียงสามารถนำสินค้ามาขายบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งอ้อย น้ำตาล และผลผลิตจากการเกษตรอีกด้วย ดังนั้นคลองขุดใหม่แขวงนครชัยศรีปากคลองอยู่กับท้ายบ้านท่านา ปลายคลองจดพระปฐมเจดีย์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า คลองเจดีย์บูชา เพื่อจะให้เป็นเส้นทางบูชาพระเจดีย์

แผนที่แสดงเมืองโบราณนครชัยศรี และพระปฐมเจดีย์

(จากหนังสือห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ องค์การค้าของคุรุสภา 2538)

งานนมัสการพระปฐมเจดีย์ในราวสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย)

สมเด็จเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แม่กอง

(แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย)

ความสำคัญของคลองเจดีย์บูชา

เมื่อมีการขุดคลองจากนครชัยศรีถึงพระปฐมเจดีย์เชื่อมต่อกับคลองวังตะกู ทำให้เป็นเส้นทางการคมนาคมหลักเพราะคลองเจดีย์บูชาเชื่อมต่อกับคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งคลองมหาสวัสดิ์เป็นคลองที่มาจากเมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานคร ชาวบ้านบางคนที่อยู่ใกล้ ๆ คลองเจดีย์บูชาก็หันมาทำไร่ ทำนาพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้จะทำนา ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือจะทำไร่ สมัยก่อนสะพานเกวียนของจังหวัดนครปฐมตั้งอยู่ใกล้สะพานยักษ์หรือสะพานเจริญศรัทธา (ในอดีตเป็นไม้) ท่าเรือจะเป็นจุดจอดเกวียนในสมัยก่อน ต่อมามีการสร้างสะพานจึงเรียกว่าสะพานเกวียน เมื่อ พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ถัดมาอีก 35 ปี ใน พ.ศ. 2446 มีการเปิดรถไฟสายใต้ จึงทำให้ความสำคัญของคลองเจดีย์บูชาลดลง เนื่องจากรถไฟสายใต้มีความสะดวกต่อการคมนาคมและการกราบไหว้นมัสการองค์พระปฐมเจดีย์มากกว่าทางเรือ การให้ความสำคัญของคลองเจดีย์บูชาหมดลงโดยสิ้นเชิง คือ การขยายเมืองและเส้นทางการคมนาคมทางบก เพราะมีความสะดวกสบายต่อการเดินทาง หรือการขนส่งมากกว่าคลองเจดีย์บูชา

สะพานเจริญศรัทธาในอดีต

(แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย)

สะพานเจริญศรัทธาในปัจจุบัน

วิถีชีวิตของคนในชุมชนคลองเจดีย์บูชา

นฤมล บุญญานิตย์ (2566) กล่าวว่า เมื่อมีการขุดคลองเจดีย์บูชาและบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ เมืองนครปฐมก็เจริญขึ้นการค้าขายก็จะตามมา ผู้คนและแรงงานก็มาทำการค้าขายทางเรือ การค้าขายทางเรือในสมัยก่อนก็จะมีคนพื้นที่นครชัยศรี สามพราน และวัดเกาะวังไทร เข้ามาที่คลองเจดีย์บูชาเทียบท่าเรือของวัดห้วยจระเข้ คนในสมัยก่อนมีการอาศัยบนเรือเนื่องจากต้องค้าขายเลยต้องตั้งหลักปักฐานอยู่ที่คลองเจดีย์บูชา ในเวลาต่อมาก็มีการสร้างตลาดซึ่งเป็นตลาดเก่าอยู่ที่ ซอย 1 และซอย 2 ทำให้การค้าขายเจริญขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนก็มาสร้างบ้านไม้ใกล้ ๆ คลอง
คุณป้าสายใจ (คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชา, 2566) กล่าวว่า เมื่อในอดีตคลองบูชาเจดีย์เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะปัจจัยหลักก็คือน้ำเนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแม่น้ำในสมัยก่อนเป็นน้ำที่สะอาด คนในชุมชนก็ใช้น้ำจากคลองเจดีย์บูชา ประกอบการทำอาหาร ทำไร่ ทำนา ซักผ้า และอาบน้ำ ในละแวกชุมชนคลองเจดีย์บูชาผู้คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำการค้าทางเรือหรือการขายสินค้าเป็นหลักและมีการขนส่งหรือการคมนาคมทางเรืออีกด้วย วรวุฒิ วีระชิงไชย ( 2566) กล่าวว่า ในอดีตชุมชนคลองเจดีย์บูชามีหลายเชื้อชาติ คือ คนมอญ และคนจีน การค้าขายทางเรือส่วนใหญ่ในคลองเจดีย์บูชาจะขายอยู่ระหว่างตรงซอย 1 กับซอย 2 และจุดที่จอดเรือลำใหญ่อยู่ตรงวัดห้วยจระเข้ เนื่องจากท่าเทียบเรือบริเวณนั้นตลิ่งไม่สูงสามารถขนส่งของได้สะดวก เนื่องจากมีการขุดคลองเจดีย์จึงเกิดเป็นเส้นทางคมนาคม เกิดชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจของคนในชุมชนเจริญยิ่งขึ้น มีศาสนิกชนมากราบไหว้บูชาองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้คลองเจดีย์ในสมัยนั้นเป็นที่น่าสนใจ
คุณป้าสายใจ
(คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชา, 2566)
คุณป้าสายใจตอนอายุ 17 ปี
ถ่ายคู่กับคลองเจดีย์บูชา

ความเชื่อคลองเจดีย์บูชา

วรวุฒิ วีระชิงไชย (2566) กล่าวว่า ในอดีตคนในชุมชนคลองเจดีย์บูชาไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับคลองเจดีย์บูชาว่าน้ำในคลองเจดีย์บูชาเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะ เป็นเพียงแค่เส้นทางที่ถูกขุดเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ดำเนินการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ขึ้นตามพระราชประสงค์ จึงทำให้มีการขุดคลองเจดีย์บูชาขึ้น เพื่อไปกราบไหว้นมัสการพระปฐมเจดีย์เท่านั้น สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มีเพียงแค่พระปฐมเจดีย์

ผลกระทบของคลองเจดีย์บูชา

เมื่อจังหวัดนครปฐมในอดีต การขยายเมืองจะต้องประกอบด้วยระบบป้องกันการน้ำท่วมจึงสร้างประตูระบายน้ำ ระบบขนส่งทางน้ำจึงต้องหยุดลงเพราะเส้นทางขนส่งทางเรือไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีประตูระบายน้ำกั้นเส้นทางขนส่งทางเรือไว้ ในระยะเวลาต่อมาจังหวัดนครปฐมไม่มีระบบการบำบัดน้ำเสียที่ดีพอจึงทำให้น้ำคลองเจดีย์บูชาเน่าเสีย เนื่องจากนครปฐมมีระบบเลี้ยงปศุสัตว์ การทำไร่ ทำนา ปล่อยน้ำทิ้งไปที่ท่อระบายน้ำ ซึ่งท่อระบายน้ำจะปล่อยไปทิ้งที่คลองเจดีย์บูชา
ในช่วงหน้าฝนของจังหวัดนครปฐมที่ตกหนัก จะมีน้ำท่วมขังเนื่องจากท่อระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำได้ทันทำให้น้ำขยะหรือน้ำที่เน่าเสียไหลลงไปสู่คลองเจดีย์บูชาเป็นแบบนี้ทุก ๆ ปี
คุณป้าสายใจ (คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชา, 2566) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดในชุมชนคลองเจดีย์บูชาเป็นตลาดใหญ่ มีการทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำจึงทำให้น้ำส่งกลิ่นเหม็น และถังขยะอันใหญ่ที่อยู่ตรงตลาดก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชนเนื่องจากมีปริมาณของขยะมากกว่า จึงทำให้น้ำขยะไหลลงสู่คลองเจดีย์บูชา
พี่อารีย์ เอี่ยมสวยงาม (จิตอาสาภาคประชาชน, 2566) กล่าวว่า เมื่อความสำคัญของคลองเจดีย์บูชาหมดไป ทำให้คลองไม่ได้รับการดูแล มีผักตบชวาเต็มคลองไปหมดไม่มีช่องว่างให้เห็นน้ำคลองเลย กลิ่นน้ำคลองก็เหม็นคลุ้งไปหมด และมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้คลองเจดีย์บูชามีน้ำเป็นสีดำ เนื่องจากคลองเจดีย์บูชารับน้ำมาจากหลายเส้นทาง มีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองและคนที่เลี้ยงปศุสัตว์ก็ปล่อยน้ำเสียลงคลอง จึงทำให้การบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องที่ยากที่จะให้คลองเจดีย์บูชากลับมาเป็นเหมือนในอดีต

การอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา

ปัจจุบันคลองเจดีย์บูชาเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชาบางกลุ่มก็ช่วยกันรักษาความสะอาดไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ หรือปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองเจดีย์บูชา แต่คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชาบางกลุ่มส่วนใหญ่ไม่ค่อยช่วยกันอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาเนื่องจากความสำคัญของคลองเจดีย์บูชาได้หมดลงไปตั้งแต่มีการสร้างประตูระบายน้ำ และท่อระบายน้ำของคลองเจดีย์บูชาไม่มีระบบการบำบัดน้ำเสียที่ดีพอจึงทำให้น้ำคลองเจดีย์บูชาเน่าเสีย
พี่นรินทร์ สัมพันธ์ปราชญ์ (จิตอาสาภาคประชาชน, 2566) และพี่อารีย์ เอี่ยมสวยงาม (จิตอาสาภาคประชาชน, 2566) ได้เข้าร่วมกลุ่มชมรม คนรักคลองเจดีย์บูชา เป็นกลุ่มจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา ดำเนินงานโดยลงพื้นที่สำรวจจุดที่น้ำเน่าเสีย และเริ่มต้นช่วยเหลือกันจากสิ่งเล็ก ๆ โดยช่วยกันเก็บผักตบชวา และขยะที่ถูกทิ้งลงในคลองในหลาย ๆ พื้นที่ และพี่ทั้งสองคนอยากจะให้ทุก ๆ คนเป็นกระบอกเสียงเพื่ออนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาให้กลับมามีความสำคัญ เพราะ คลองเจดีย์บูชาเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ขุดคลองขึ้น เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองนครปฐม
ดังนั้น คุณป้าสายใจ (คนในชุมชนคลองเจดีย์บูชา, 2566) กล่าวว่า อยากจะให้หลาย ๆ คนในชุมชนช่วยเหลือกันดูแลคลองเจดีย์บูชา เริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ คือ การไม่ทิ้งขยะลงในคลอง หรือ ไม่ปล่อยน้ำสกปรกลงสู่คลอง เพื่อให้คลองเจดีย์บูชาไม่ส่งกลิ่นเหม็น และจะทำให้การใช้ชีวิตของคนในชุมชนสะดวกมากยิ่งขึ้น

กลุ่มชมรม คนรักคลองเจดีย์บูชา

บรรณานุกรม

วสันต์ เทพสุริยานนท์, "พระประโทณเจดีย์: จากการศึกษาทางโบราณคดี," ใน กรมศิลปากร, ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 15 จังหวัดนครปฐม (นนทบุรี: ไซออน มีเดีย, 2552), หน้า 47 - 62. และ สันติ เล็กสุขุม. " รูปแบบสันนิษฐานจากซากเจดีย์สมัย ทวารวดีที่นครปฐม," ใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 80 - 84.