การเลี้ยงหมู

ชุมชนธรรมศาลา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นช่วงเวลาก่อร่างสร้างเมืองและการขยายความเจริญในทุกด้าน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนถึงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ประเทศไทยได้เริ่มติดต่อค้าขายกับชาติอื่น ๆ ส่งผลให้ชุมชนต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักรขยายจำนวนมากขึ้น และมีการอพยพเข้าตั้งหลักแหล่งของชาวต่างชาติหลากหลายชาติพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพที่นิยมในกลุ่มชาวจีน ชาวไทยจะไม่นิยมประกอบอาชีพนี้เนื่องจากความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อกลุ่มชาวจีนเข้ามาตั้งหลักตัวแหล่งในเมืองนครชัยศรีจำนวนมาก ก็ส่งผลให้การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่และเลี้ยงเป็ดกระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งต่อมาการเลี้ยงสัตว์นี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นฟาร์มและเมืองนครปฐมนับว่าจำนวนมีฟาร์มเลี้ยงหมูมากที่สุด จนเป็นที่รู้กันว่า “หมูนครปฐม” เพราะกลิ่นขี้หมูสามารถทำให้ผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดนครปฐมได้กลิ่นและเป็นสิ่งยืนยันว่าได้เข้ามาในเขตนครปฐมแล้ว
การเลี้ยงสุกรในระยะแรกจึงใช้เศษอาหารที่เหลือในการบริโภคผสมกับรำข้าวและเศษพืชผัก บ้านเรือนใดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านจะเก็บผักตบชบามาสับผสมให้สุกรด้วยสุกรที่แบบชาวบ้านโดยใช้เศษอาหารขุน จะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี จึงโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 60-80 กิโลกรัม นำไปบริโภคได้
ต่อมาเมื่อชุมชนเจริญขึ้นความต้องการบริโภคเนื้อหมูมีมากขึ้น จึงมีผู้เลี้ยงสุกรเป็นอาชีพมากขึ้น จากสุกรไม่กี่ตัวก็เพิ่มเป็นหลังร้อยจนถึงหลักหมื่นตัว ฟาร์มสุกรในปัจจุบันมีการจัดการดีทั้งระบบคอกสุกร การให้อาหาร การป้องกันและรักษาโรค
ฟาร์มสุกรขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ในนครปฐมมีประมาณ 400 กว่าแห่ง การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันถ้าดูแลให้อาหารและมีการป้องกันโรคดี จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณหกเดือนเศษก็มีน้ำหนัก 100-120 กิโลกรัม นำออกจำหน่ายได้ จากตัวเลขของปศุสัตว์จังหวัดปี 2542 มีสุกรผลิตออกสู่ตลาดประมาณหนึ่งล้านสอแสนตัว การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันสามารถใช้เนื้อที่อย่างประหยัด มูลสัตว์ สามารถจำหน่ายเป็นปุ๋ย และมีการบำบัดน้ำเสียจากคอกสุกรก่อนนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆนอกจากนี้ฟาร์มสุกรส่วนมากยังผสมอาหารสุกรจากกากถั่ว รำ ปลายข้าว ปลาป่น ข้าวโพด ฯลฯ เอง ทำให้ประหยัดราคารายจ่าย และมีผลกำไรบ้างในภาวะที่สุกรราคาต่ำ

คุณสิทธิชัย สุขสมบูรณ์ (อายุ 58 ปี)

เจ้าของกิจการฟาร์มหมูทางเลือก

ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ได้เล่าว่า ทำฟาร์มเลี้ยงหมูมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นเตี่ย ทำมามากกว่า 100 ปีแล้ว แต่สมัยก่อนเลี้ยงแบบผูกล่ามไว้กับโคนต้นไม้ในบริเวณบ้าน มีความเชื่อว่า หมู เปรียบเสมือนกับกระปุกออมสิน คือการเลี้ยงหมูของคนสมัยก่อน ใช้เศษอาหารและปลายข้าว ในการเลี้ยงหมู เมื่อมีเศษอาหารเหลือทิ้งจะนำไปให้หมูรับประทาน ทำให้หมูเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโตก็นำไปขายได้เงินมาจุนเจือครอบครัว เปรียบเหมือนการหยอดกระปุกออมสิน เศษอาหารก็เหมือนกับเหรียญที่ใช้หยอดกระปุก มีหมูบ้านละ 5-6 ตัว ก็ให้เศษอาหารทานไปเรื่อย ๆ
สายพันธุ์หมูที่เลี้ยง ก็คือสายพันธุ์ฟินนอร์เอเชีย เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยเป็นพันธุ์ที่มีเนื้อเยอะ โตไว หมูพันธุ์นี้จะมีลักษณะลำตัวยาว มีเนื้อสันใหญ่ มีเนื้อคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด การเลี้ยงดูในฟาร์มไม่ได้ใช้ปฏิชีวนะ เน้นหยวกกล้วยให้หมู เพื่อทำให้หมูมีความแข็งแรงปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม การขยายพันธุ์เน้นในการผสมเทียม จะทำให้เกิดผลที่ดีกว่า
สมัยนี้ก็เริ่มเลี้ยงฟาร์ม ที่เลี้ยงหลาย ๆ ตัว ให้อาหารสำเร็จรูป ข้าวโพด กากถั่ว และรำข้าว แค่คาดหวังกับกำไรไม่ค่อยได้แล้ว เพราะมีนายทุนเข้ามาประกอบกิจการ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถก้าวหน้าได้ ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงกัน จะเป็นฟาร์มเล็กๆ มีหน้าเขียงของตัวเอง และที่ตลาดเขียว บางรายขายทั้งตัวเป็นๆ ผ่านพ่อค้าคนกลาง และขายเนื้อหมูสดที่ตลาดปฐมมงคลและตลาดทุ่งพระเมรุ จังหวัดนครปฐม สาเหตุที่นครปฐมเป็นเมืองหมูในปัจจุบัน ก็เพราะผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย จะนำหมูเป็นๆ มาเชือดที่นครปฐม แล้วส่งชิ้นส่วนที่ชำแหละแล้วกลับจังหวัดตัวเอง

บรรณานุกรม

สิทธิชัย สุขสมบูรณ์. (2566 ตุลาคม 21). เจ้าของฟาร์มหมูชุมชนธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม. สัมภาษณ์.
ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ.(2544).วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครปฐม (พิมพ์ครั้งที่ 1) กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ.