พิธีเสนเรือน

ความเป็นมาและความสำคัญ

ชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาและความเชื่อที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะการนับถือผีเฮือนหรือผีเรือนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทดำโดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้วยังคงสถิตอยู่กับชาวไทดำตลอดไม่ว่าจะมีการโยกย้ายบ้านเรือนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงติดตามพวกเขาไปเสมอ คอยชี้นำชาวไทดำให้ประพฤติปฏิบัติตนตามทํานองคลองธรรมที่สืบต่อกันมา ดังนั้นจึงทำให้ชาวไทดำมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของตนเพื่อเป็นการระลึกพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเป็นการแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพชน และเป็นการตอบแทนที่เหล่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปคอยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยจะทำพิธีกรรมที่ชาวไทดำทุกบ้านจะต้องจัดให้แก่ผีเรือนของตน เรียกว่า“เสนเฮือน”หรือ เสนเรือน การเสนเฮือนนี้หากเปรียบในทางพระพุทธศาสนาก็คือ การทำบุญอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
คุณชัชวาล ผึ่งเดช(ปราชญ์ชาวบ้าน)เล่าว่าการนับถือผีเฮือนหรือการนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทดำที่เสียชีวิตไปแล้วและบรรพบุรุษยังคงอยู่กับพวกเขาตลอดที่เรียกกันทั่วไปว่าผีเฮือนซึ่งผีเฮือนนี้เป็นทั้งศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ญาติพี่น้องและวัฒนธรรมร่วมไปถึงเป็นกฎหมายที่ชาวไทดำทุกคนยึดถือสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
การเสนเรือนคือ พิธีเซ่นไหว้ผีเฮือนของชาวไทดำ ผีเฮือนหรือผีเรือนในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญวิญญาณมาไว้บนเรือน โดยจัดให้อยู่มุมห้อง ๆ หนึ่งทางหัวสกัดของบ้าน เป็นที่สมมติขึ้น ไม่มีกระดูกหรือสัญลักษณ์ใด ๆ แต่บริเวณนั้นจะมีถ้วยชามและแก้วน้ำตั้งอยู่ จะมีปาดคือไม้ไผ่สานขึ้นมีลักษณะคล้ายขันกระหย่อง (พานไม้ไผ่สาน) มีดดาบ และขี้ไต้ปักอยู่ที่ฝาเรือน บริเวณนั้นเรียกว่า “กะล้อห้อง”
กะล้อห้อง คือ มุมห้องที่ชาวไทดำได้เชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาสถิตให้เป็นผีเรือน โดยจะมีการนำอาหารเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “เลี้ยงปาดตง” ซึ่งเรือนของชาวไทดำที่เป็นชนชั้นใต้ในปกครองน้อยหรือบ้านคนทั่วไปจะทำพิธีเลี้ยงปาดตงทุกๆ 10 วัน ส่วนบ้านผู้ใหญ่หรือบ้านที่มีตระกูลที่มีเชื้อสายเจ้าไทดำจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ทุกๆ 5 วัน
พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของชาวไททรงดำที่ดอนยายหอม โดยในพิธีจะมีผู้เฒ่าในชุมชนเป็นหมอเสน พิธีเสนเรือน คือ พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของผู้ไทยดำ ผีเรือนก็คือ ผีบรรพบุรุษ ที่ได้เชิญมาไว้บนเรือน พิธีเสนเฮือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้าน 2-3 ปีต่อครั้ง มีคำพูดของชาวไทดำที่ว่า “2 ปีห่าม 3 ปีครอบ” คือ 2 ปีทำไม่ดี 3 ปีจึงจะดี จะจัดขึ้นในระหว่างเดือน 4 ถึงเดือน 6 ทางจันทรคติ โดยการเสนเฮือนนี้จะต้องให้ตระกูลใหญ่คือตระกูลที่สืบเชื้อเจ้านายหรือเจ้าเมืองจัดก่อน จากนั้นบ้านของชาวบ้านทั่วไปจึงจะทำการเสนเฮือนได้ หากตระกูลเจ้านายยังไม่จัดเสนเฮือนตระกูลผู้น้อยก็ไม่สามารถจัดได้ และหลังจากเดือน 6 ไปแล้วไม่สามารถจัดเสนเฮือนได้
การเสนเรือนนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คุณครูสาธิต กุยเช็ง (นักวิชาการ) ให้สัมภาษณ์ว่าชาวไทดำเชื่อว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น หากครอบครัวไหนไม่จัดเสนเฮือน คนในครอบครัวนั้นมักจะมีอันเป็นไปเช่น เจ็บป่วยหรือมีเหตุการณ์ไม่ดีต่าง ๆ เกิดขึ้นในครอบครัวนั้น โดยมีเหตุมาจากการกระทำของผีเรือนด้วยเหตุที่ไม่ยอมเสนเฮือน หากครอบครัวไหนที่ยังไม่พร้อมก็จะต้องหักไม้ นำหัวหมากพลูมาเซ่นให้หมอเสนบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่าขอผลัดไปก่อนเพราะยังไม่พร้อม เนื่องด้วยการเสนเฮือนนี้มีรายจ่ายต่างๆ เยอะมาก
คุณชัชวาล ผึ่งเดช (ปราชญ์ชาวบ้าน) กล่าวว่า ในการเสนเฮือนเจ้าภาพจะต้องไปหาหมอเสนซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีเสนเฮือนให้จัดหาวันที่มีฤกษ์มงคล เช่น มื้อฮวงหรือวันฮวง มื้อฮายหรือวันฮาย มื้อเปิกหรือวันเปิกเป็นวันดี เป็นต้น โดยส่วนมากชาวไทดำจะจัดในวันเปิกเพราะเมื่อจัดในวันเปิกจะเสียหมูเสียไก่ (เลี้ยงด้วยหมูและไก่) วันฮายจะเสียหมูเสียไก่ (เลี้ยงด้วยหมูและไก่) ส่วนวันฮวงจะเสียควาย (เลี้ยงด้วยควาย) คำว่า “เสีย” หมายถึงการเซ่นไหว้ ในการเลือกวันดีนี้ส่วนใหญ่แล้วตระกูลชาวบ้านทั่วไปจะเลือกจัดในวันเปิกเพราะเสียสัตว์เล็กคือหมูและไก่เป็นเพราะใช้กำลังทรัพย์ในค่าใช้จ่ายน้อย ส่วนตระกูลใหญ่นั้นมักจะจัดวันฮวง เพราะเป็นตระกูลใหญ่ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายจึงต้องเซ่นด้วยสัตว์ใหญ่
หลังจากได้วันแล้วเจ้าภาพจะตั้งเตรียมงานโดยจัดหาเครื่องเซ่นไหว้คือ หมู 1 ตัว ไก่ 2 ตัว ซึ่งทุกบ้านจะมีการเลี้ยงหมูกันเพื่อใช้เซ่นผีเรือน ชาวบ้านมักจะอธิษฐานว่า ถ้าหากตนทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองและเลี้ยงหมูอ้วนจะทำพิธีเสนให้ หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้จะต้องแข็งแรง มีลักษณะดีและเป็นตัวผู้ที่ขาเต็มกำมือซึ่งก็หมายถึงทำอะไรก็จะได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนขาหมู นอกจากนี้เจ้าภาพจะต้องทำเหล้าหมักหรือเหล้าแกลบเพื่อใช้ในพิธีแต่ปัจจุบันใช้เหล้าขาว 40 ดีกรีแทน นอกจากนี้เจ้าภาพจะต้องเตรียมหมากพลูและเครื่องบูชาครูให้หมอเสนนำไปบูชาครูของหมอเสนเรียกว่า “คายหมอ” เพื่อให้หมอเสนรับรู้เสียก่อนในช่วงใกล้วันพิธีเตรียมละข้าวของเครื่องให้ต่างๆที่จำเป็นในงาน
ก่อนวันงานหนึ่งวันจะมีการต้มข้าวต้มหมูและเจ้าภาพจะเชิญแขกในละแวกบ้านให้มาร่วมงาน (ในอดีตหากมีงานคนในหมู่บ้านจะมาช่วยงานโดยไม่ต้องเชิญ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านมีความเกรงใจไม่กล้ามาร่วมงาน เจ้าภาพจึงต้องไปบอกกล่าวแก่เพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง) ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติ ๆ รวมทั้งแขกเชิญ ญาติที่มาร่วมงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ญาติสืบสายโลหิตจะแต่งกายแบบธรรมดา และญาติจากการแต่งงานได้แก่ฝ่ายเขยหรือสะใภ้ จะแต่งกายพิเศษด้วยชุด “เสื้อฮี” หรือเสื้อยาวเพื่อเป็น การเคารพผีเรือนและเป็นที่สังเกตให้ผู้มาร่วมงานรู้ว่าเป็นเขยหรือสะใภ้ และเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพ
ในเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันงาน เจ้าภาพจะนำหมูที่ซื้อมาหรือที่เลี้ยงไว้ในพิธีนี้มาฆ่า ในการฆ่าหมูนี้จะต้องนำหมูไปฆ่าที่บันไดทางขึ้นบ้านเพื่อให้ผีเรือนได้เห็นและรับรู้ เมื่อฆ่าเสร็จจึงนำหมูออกมาข้างนอกเพื่อทำการถอนขนและชำแหละเอาเครื่องในออก จากนั้นใช้ตอกมัดกับขาทั้งสี่ เสร็จแล้วจึงใช้ไม้ไผ่ทำเป็นไม้คานหาม (ชาวบ้านเรียกว่า ไม้สบู่ คือไม้ไผ่ที่ใช้เป็นคานหาม) นำหมูทั้งตัวขึ้นไปชั้นบนของบ้านที่หน้ากะล้อห้อง ทำความเคารพพร้อมกับกล่าวกับผีเรือนเพื่อให้ผีเรือนรับรู้และเห็นการชำแหละเนื้อหมู ในนี้จะชำแหละเป็นส่วนๆ ให้พอเหมาะที่จะประกอบเป็นตัวหมูทั้งตัวเพื่อใส่กะละมังไว้โดยมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของหมูขาดหายไป หากชิ้นเนื้อหมูหายไปก็จะไม่สามารถทำพิธีเสนเฮือนไม่ได้
ขณะที่การประกอบอาหารเพื่อทำพิธีดำเนินไป เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพและญาติพี่น้องเดินทางมาร่วมงานผู้ที่มาก็จะนำเหล้าหรือน้ำอัดลมมาช่วยงานเจ้าภาพ ระหว่างที่รอแขกที่มาก็จะช่วยกันเตรียมข้าวของเครื่องใช้ไว้ในกระด้งให้ผีเรือน ประกอบด้วย เสื้อฮี 1 ตัว, กำไลแขน 1 อัน, สร้อยคอ 1 เส้น,พัด 1 ด้าม, กระเทียมหัวหอม 1 พวง, ผ้าเปียวเบอะ 1 ผืน, หัวหมาก 1 อัน, ผ้าขาวม้า 1 ผืน, ผ้าโสร่ง 1 ผืน, ผ้าซิ่น 1 ผืน, ผ้าขาวรอง 1 ผืน, ฝ้ายดำ 1 หัว, ฝ้ายขาว 1 หัว, เสื้อ 1 ตัว, กางเกง 1 ตัว, หวี 1 เล่ม, แหวน 1 วง, เงิน (ตามแต่ละเจ้าภาพจะใส่), เส้นผมคนในครัวเรือน และกระจก 1 บาน นอกจากสิ่งของที่เตรียมใส่กระด้งแล้ว ยังมีเสื้อผ้าอีกหนึ่งชุดที่ห่อด้วยผ้าขาวม้า และถ้วยใส่บุหรี่ คำหมากคำพลูอีกหนึ่งถ้วย
เมื่อหมูสุกในช่วงเช้าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ชาวบ้านช่วยกันยกหมูขึ้งมาบนเรือนเพื่อจัดแจกเตรียมพิธีเสนเฮือน โดยนำชิ้นส่วนหมูมาประกอบเป็นตัวบนปาน (พานที่ทำด้วยหวาย) แล้วนำใบตองมาปิดตัวหมู และหั่นใบขมฟาดเป็นเส้นๆ ไว้สำหรับใส่จุ๊บหมู (ยำหมู) เมื่อประกอบชิ้นส่วนหมูให้เป็นตัวเสร็จนำจุ๊บหมูที่ทำไว้มาห่อใบตองสามห่อวางไว้ข้างตัวหมูพร้อมกับถ้วยน้ำซุป สำหรับเป็นน้ำให้ผีดื่มเวลาเซ่นอาหาร แล้วจึงจะยกปานที่มีหมูอยู่ไปตั้งไว้หน้าหมอเสน พร้อมกับยกพาข้าวที่มีแกงหน่อไม้ส้มดองใส่ไก่และลาบเลือดหมูพร้อมกระติบข้าวมาไว้หน้าหมอเสนทางทิศเหนือ ต่อจากนั้นหมอเสนจะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยพิธีกรรมการเสนเฮือนจะกระทำด้วยกัน 3 ครั้ง
พิธีเสนเฮือนครั้งแรก จะนำอาหารมาเลี้ยงหมอเสนเรียกว่า “งายหมอ” เป็นการกินข้าวเช้าคือนำปาน ใส่กับข้าวประกอบด้วยกระติบข้าวเหนียวนึ่ง แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่ ไก่ต้มตัดเป็นชิ้นใหญ่ จากนั้นหมอเสนจึงเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่นโดยเริ่มอ่านสมุดที่มีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วให้มารับเครื่องเซ่น โดยหมอเสนจะปั้นข้าวเหนียวในกระติบเป็นก้อนๆใส่ในถ้วยแกงแล้วใช้ทู (ตะเกียบ) คีบก้อนข้าวเหนียวและกับข้าวมาวางไว้ข้างถ้วยแกงบนปานพร้อมกับกล่าวเชิญวิญญาณผีเรือนเป็นภาษาไทดำให้มารับเครื่องเซ่น โดยจะหันหลังให้กะล้อห้อง หมอเสนจะนั่งบนที่นอนพับเหตุที่นั่งบนที่นอนเนื่องจากหมอเสนมีครูมีของรักษาจึงนั่งกับพื้นไม่ได้ เป็นเหตุให้ต้องนั่งบนที่สูงกว่าคนอื่น ตามปกติจะใช้โต๊ะไม้เล็กไว้สำหรับนั่งต่างหาก หลังจากครบรายชื่อแล้วหมอเสนจะบอกไว้ช่วยกันยกปานหวายออกมาให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับประทานเป็นอาหารเช้า เรียกว่า “กินงายหมอ” เหตุที่ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้ผีได้กินอีกหลังจากที่หมอเสนได้ทำพิธีไปแล้ว
พิธีเสนเฮือนครั้งสอง เรียกว่า “ข้าวเวน” ในพิธีเสนเฮือนครั้งสองหมอจะหันหน้าไปทางทิศใต้หันหน้าเข้าหากะล้อห้อง จากนั้นจะเปิดใบตองที่ปิดตัวหมูออกเปิดห่อใบตองที่มีจุ๊บหมูแล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนๆ วางบนใบตอง เสร็จแล้วก็กล่าวเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่น โดยหมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบข้าวเหนียวและหมูจุ๊บวางไว้บนตัวหมูต่อจนครบรายชื่อที่มีในสมุด แล้วจึงเรียกผีเรือนให้มารับข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมไว้จนครับทุกรายชื่อจากนั้นจึงรินน้ำ รินเหล้าใส่แก้วเทลงข้างฝาบ้านตามไปเป็นการล้างปาก เป็นการเสร็จพิธีเสนเฮือนครั้งสอง
จากนั้นหมอเสนจะหยุดพัก พร้อมกับยกเอาปานที่มีหมูออกมาแยกส่วนขาออกมาทำอาหารให้ญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเรียกว่า “กินข้าวเวน” แต่เหลือส่วนตัวและส่วนหัวเก็บไว้เพื่อทำการเสนในครั้งต่อไป แล้วชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเครื่องเสนในครั้งที่สาม โดยนำหัวหมูและตัวมาประกอบเข้าด้วยกันและเตรียมห่อข้าว 4 ห่อไว้คาวประตู คาวหน้าต่าง ในระหว่างนั้นจะมีการแจกจ่ายน้ำอัดลมให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ดื่ม และจัดเตรียมปานหวายรองด้วยใบตองใส่จุ๊บหมูและน้ำซุปปานละ 2 ถ้วย จำนวน 2 ปานและเตรียมไก่ที่ต้มแล้วมาฉีกแยกออกเป็นสองส่วนใส่ถ้วยวางไว้ที่ปานหวาย แล้วนำ “ไต๊” หรือสิ่งที่เก็บขวัญและเป็นผู้ดูแลขวัญของแต่ละคนที่อยู่อาศัยอยู่ในเรือนซึ่งทุกคนในบ้านจะมีไต๊ประจำตัว แล้วเอาห่อข้าวห่อหมากพลูผูกติดกับไต๊แล้วนำไปเสียบที่ฝาบ้านเหมือนเดิม จากนั้นจึงเริ่มพิธีเสนเฮือนครั้งที่สาม
พิธีเสนเฮือนครั้งสามเรียกว่า “แลงกลางเฮือน” หรือ “แลงหมอ” โดยชาวบ้านจะช่วยกันยกปานที่มีตัวหมูและปานที่มีจุ๊บหมู และซั่งเหล้าคือขวดเหล้าที่มัดกับเสาไม้ไผ่ในอดีตใช้เหล้าไหแต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เหล้า 40 ดีกรีแทน นำเครื่องเซ่นต่างๆ มาตั้งหน้าหมอเสน หมอเสนจะหน้ามาทางทิศเหนือแล้วทำพิธีเสนเฮือนครั้งที่สาม โดยเรียกผีเรือนมารับเครื่องเซ่นจนครบรายชื่อในสมุด หมอเสนนำห่อข้าวเล็กๆที่เรียกว่า “คาว” นำไปวางที่ประตู หน้าต่าง ทางเข้าบ้านเพื่อให้ผีเรือนที่เฝ้าประตูกินและกล่าวบอกให้รักษาบ้านเรือน หลังจากนั้นหมอเสนจะขึ้นมาบนเรือนเพื่อทำพิธีต่อ คือการฟายเหล้าโดยหมอเสนจะรินเหล้าจากซั่งเหล้าให้เจ้าภาพและญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันให้ดื่มเหล้า เป็นอันเสร็จพิธีเสนเฮือน
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว หมอเสนจะยกปานที่ทำพิธีเสนเฮือนแล้วออกรับให้แขกที่มางานได้รับประทานเรียกว่า “กินแลงกลางเฮือน” ส่วนหมูที่เหลือจากการเสนจะถูกหั่นใส่ถุงแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงาน เหลือเพียงกระดูกคางหมูถูกเก็บไว้ที่กะล้อห้องเรียกว่า “ปานปาง” เป็นการบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่าปีนี้ลูกหลานได้ทำพิธีเสนเฮือนให้แล้ว หลังจากที่ทานอาหารกันแล้วหมอเสนและญาติพี่น้องร่วมทั้งเพื่อนบ้านที่มาจะร่วมกันให้พรแก่เจ้าภาพ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

คุณค่าของพิธีเสนเรือนหรือพิธีเสนเฮือน

พิธีเสนเรือนหรือพิธีเสนเฮือนของชุมชนดอนยายหอมนับเป็นพิธีสำคัญของชาวไทยทรงดำซึ่งจะขาดหรือละเลยไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลให้แก่ครอบครัว จะต้องจัดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คำว่า เสน แปลว่า เซ่น หรือสังเวย เสนเรือน หมายถึง การเซ่นไหว้ผีเรือน ได้แก่ การเซ่นไหว้ปู่ย่า ตายาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคน ในพิธีเสนเรือนของชาวไทยทรงดำนั้น อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเพราะเป็นทั้งเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่แสดงถึงความเคารพและระลึกถึง อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมด้วย และใช้เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วย
พิธีเสนเรือนเป็นเครื่องมือสืบสาน พัฒนา และสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยทรงดำให้เข้มแข็ง ยั่งยืน ด้วยพิธีกรรมนี้สื่อสาร อัตลักษณ์ทุกด้านของกลุ่มชาติพันธุ์สู่สังคมและสาธารณชน
พิธีเสนเรือนได้สร้างความเข้มแข็งทางสังคมและวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆได้ชัดเจน กล่าวคือ ความรู้ในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการประกอบพิธีได้สร้างโอกาสให้คนได้ปรับความเข้าใจ และผูกใจให้เกิดความผูกพันเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ที่นำไปสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว อันเป็นรากฐานให้เกิดความรัก ความสามัคคีในครอบครัว เครือญาติ กลุ่มชุมชน โดยมีระบบผีเรือนเป็นสายใยเชื่อมโยง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข มีความเข้มแข็งทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นในชุมชนสืบต่อไป การจัดพิธีเสนเรือนขึ้นนอกจากแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษตามความเชื่อแล้ว พิธีกรรมดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้เกิดการถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การปรุงอาหาร การแสวงหาอาหาร การแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ เกิดขึ้นในกระบวนการและขั้นตอน เป็นบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงเนื้อหาภูมิปัญญาให้ประจักษ์ต่อผู้คนหลากหลายที่นำไปสู่การเรียนรู้ ถ่ายทอดและสืบสานคุณค่า ความเป็นมา สาระสำคัญเกิดขึ้น ที่สำคัญคือคนรุ่นลูกหลานจะได้รู้ว่า พิธีเสนเรือนมีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร พิธีกรรมนี้มีคุณค่าอย่างไร
พิธีเสนเรือนส่งผลดีต่อการพัฒนาชุมชน การมีส่วนร่วม การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล การฝึกฝน พัฒนา ดวามรักชุมชน ความเสียสละ สำนึกสาธารณะ ฯลฯ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนสู่ความสุข ความเจริญ ความอบอุ่น คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในกรอบดวามเชื่อผีบรรพบุรุษ และกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน และเป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่จะช่วยปรับปรุงกระแส การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ให้เป็นไปในลักษณะที่เหมาะสมกับรากฐานเดิม

บรรณานุกรม

ปัณณธร เธียรชัยพฤกษ์, 2559, น.40
ศูนย์มานุษยวิทยาสินรินธร.(2559).เสนเรือน.ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
เรณู เหมือนจันทร์เชย.การจัดการความรู้ในพิธีเสนเรือนของไทยทรงดำ.วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากรปีที่ 38(1) : 1-24, 2561