โบราณวัตถุ

ทวารบาลดินเผา (อสูรวัดพระงาม)

กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี มีการขุดศึกษาโบราณสถานวัดพระงามเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา ใน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้มีการขุดพบโบราณวัตถุ เช่น พระพิมพ์ดินเผา ประติมากรรมดินเผารูปยักษ์ขนาดใหญ่ทั้งนี้ได้ศึกษาลักษณะของประติมากรรมดินเผา ดังนี้
ทวารบาลดินเผา เป็นประติมากรรมรูปยักษ์ ลักษณะแตกหักออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนศีรษะและส่วนลำตัว ใบหน้าเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย รูปหน้าเหลี่ยม คิ้วหยักโค้งเป็นเส้นนูนต่อกันเป็นรูปปีกกา ตาโปน มีเส้นขอบตาทั้งด้านบนและด้านล่าง ดวงตาเหลือบมองไปทางด้านซ้าย จมูกโด่ง ริมฝีปากหนาใหญ่ มีเส้นขอบปากชัดเจน มีเขี้ยวที่มุมปากทั้งสองข้าง ปากแย้มออกเล็กน้อยแสดงอาการยิ้มอยู่มองเห็นฟันรำไร สวมต่างหูลายดอกไม้ทรงกลม บริเวณหน้าผากสวมกะบังหน้าประดับด้วยตาบ ผมด้านหลังม้วนเป็นเกลียว ซ้อนกันลงมาเลยบ่า
ทรงผมและเครื่องประดับศีรษะ ประติมากรรมรูปยักษ์นี้รวบผมด้านหน้าเกล้าสูงกลางศีรษะ มีเครื่องประดับรด (รัดเกล้า) ปล่อยชายและผมส่วนที่เหลือสยายประบ่าด้านหลังผมม้วนบิดเกลียว สวมกะบังหน้าแบบมีดาบเพชรพลอย 5 ตาบ (ตาบอยู่ติดกับกะบังหน้า) ตาบกลางและตาบข้างใหญ่ ตาบแทรก 2 ตาบ ลดขนาดเล็กลง ตาบข้างออกแบบโค้งเข้ารูปหูแบบกรรเจียก
ตุ้มหู เป็นแบบกลมลายดอกไม้ประดิษฐ์ (7 กลีบ และ 9 กลีบ)
สร้อยคอ เป็นแบบสร้อยสองเส้นซ้อนกัน มีสร้อยไข่มุกอยู่ด้านใน แต่ดูประชิดกับสร้อยเพชรพลอยด้านนอกมาก ส่วนสร้อยเพชรพลอยนั้น ดูคล้ายกับแบบที่มีติ่งแหลมตรงกลาง
พาหุรัด แบบคล้ายตาบเพชรพลอย
ยัชโญปวีต เป็นสร้อยไข่มุกหลายเส้นบิดเป็นเกลียว (มุกตยัชโญปวีต - ยัชโญปวีตไข่มุก) แต่ไม่มีตัวห้าม มีอยู่รูปหนึ่งพาดที่ไหล่ขวาซ้าย
อุทรพันธะ อยู่ค่อนข้างต่ำ เหนือสะดือเล็กน้อย เป็นแบบแถบผ้าเล็กๆ มีตาบเพชรพลอย ขนาดเล็ก อยู่ตรงกลาง 1 ตาบ
เข็มขัด เป็นแบบเข็มขัดโซ่
การนุ่งผ้า นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นชายผ้าอยู่เหนือเข่า มีจีบผ้ายาวลงมา ตรงกลางชักชายกระเบนเหน็บ ไว้ด้านหลัง คาดด้วยเข็มขัดโซ่ใต้ขอบผ้านุ่ง และชักชายพกห้อยอยู่ส่วนข้างทางซ้าย
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะของประติกรรมรูปยักษ์ที่พบในครั้งนี้กับศิลปะอินเดีย และศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีรูปแบบบางประการในประติมากรรมดินเผา รูปยักษ์จากโบราณสถานวัดพระงาม คล้ายคลึงกับประติมากรรมในศิลปะจากแหล่งต่าง ๆ เป็นต้นว่า ทรงผมคล้ายทวารบาลด้านหน้า ถ้ำอชันตาที่ 19 ศิลปะวกาฏกะ ต่างกัน ที่เกลียวผมการเบี่ยงผม การเกล้ายกสูงต่างกัน ส่วนกะบังหน้า 4 ตาบ คล้ายศิลปะชวา สร้อยคอเป็นเส้นคู่ และเข็มขัดโซ่ เป็นแบบอิทธิพลศิลปะปาละ ประติมากรรมสวมยัชโญปวีตแบบเส้นใหญ่ คล้ายที่ใช้สร้อยไข่มุกหลายเส้นบิดเป็นเกลียว ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะอินเดียใต้ รวมถึงมีอุทรพันธะ ซึ่งเป็นความนิยมในศิลปะอินเดียใต้เช่นเดียวกัน หากพิจารณาลักษณะท่าทางรวมถึงตำแหน่งของเครื่องประดับร่างกายประเภทต่าง ๆ โดยไม่ได้พิจารณาความเหมือนในส่วนรายละเอียด ของลวดลายประดับก็อาจจะเทียบได้กับประติมากรรมรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 จากลักษณะองค์ประกอบบางส่วนของรูปยักษ์ที่สามารถทำการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะผ่านสมัยหลังคุปตะมาจนถึงสมัยปาละจึงกำหนดอายุประติมากรรมรูปนี้ไว้ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 15
ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประติมากรรมดินเผารูปยักษ์ ประดับเป็นทวารบาลนั่งอยู่บริเวณทางเข้าศาสนสถาน และควรจะนั่งอยู่ด้านข้างซ้ายและขวาโดยพิจารณาลักษณะอาการเอียงใบหน้าการเหลือบดวงตาไปทางด้านซ้ายของประติมากรรมดินเผา และพิจารณาจากตำแหน่งของยัชโญปวีตแบบสร้อยไข่มุกที่สวมอยู่ต่างข้างกันของประติมากรรมดินเผา

บรรณานุกรม

สมลักษณ์ คำตรง. (2564). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมศิลปากร.
กรมศิลปากร. (2563). ปกิณกศิลปวัฒนธรรม. เล่ม26. นครปฐม.
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร(2562). เข้าถึงได้จาก : https://www.silpa-mag.com/news/article_37878